สงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามปิดเส้นทางขนส่งทางเรือ –อากาศ กระทบขนส่งสินค้า

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามปิดเส้นทางขนส่งทางเรือ –อากาศ กระทบขนส่งสินค้า

เอกชนผวา ปิดเส้นทางขนส่งสินค้า เรือ-อากาศ ขอพาณิชย์เร่งรัด เจรจา Transit Agreement กับ จีน หวังปูทางขนส่งสินค้าไปเอเชียกลาง และยุโรป ในอนาคต

สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ไม่มีทีท่าที่จะยุติได้โดยเร็ว  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานสูงกว่า 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าจะมีข่าวดีจากความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งอาจปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลก ส่งผลให้น้ำมันขยับปรับตัวลง ขณะที่สหรัฐและชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันรัสเซียทุกรูปแบบ แต่รัสเซียก็ยังไม่ถอย รุกคืบยืดพื้นที่ยูเคนอย่างต่อเนื่อง โดยกองกำลังทหารรัสเซียบุกโจมตีในเมืองอีเนอร์โกดาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย  ที่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย 

สำหรับประเทศไทย แม้จะประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันซึ่งอาจฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ได้ โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่แม้ไม่ได้กระทบโดยตรง เพราะตลาดรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก

แต่เมื่อเจาะเป็นรายสินค้า มีผลกระทบต่อยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณี และเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนแต่อาจจะกระทบต่อสินค้า ประเภทยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ยึดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น ซึ่งภาคเอกชนจึงเสนอรัฐภาครัฐตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการเป็น Focal Point ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( สอท.)  ระบุว่า คณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) นี้จะมีหน้าที่ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาทิ การปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าไทย 

ขณะที่นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ขอให้จับตามการค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบ global supply chain  โดยเฉพาะผลกระทบจากค่าระวางเรือที่จะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสายเรืองดรับ booking ในเส้นทางรัสเซีย-ยูเครน และบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าว ทำให้ต้องพิจารณาใช้เส้นทางทางบกหรือระบบราง และต้องขนส่งผ่านประเทศอื่น ๆ เพื่อเข้าไปยังรัสเซียและยูเครน

สอดคล้องกับความเห็นของนายชัยชาญ เจริญสุข  ประธานสภาผู้สินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ที่มองว่า ในอนาคตหากมีปัญหาด้านการขนส่งทางเรือ ก็ควรที่รัฐจะต้องเร่งรัดเจรจากับทางการจีนเปิดเส้นทางรถและทางรางให้ เพื่อขนส่งสินค้าของไทยผ่านแดนจีนไปยังเอเชียกลาง และยุโรป 

ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวของภาคเอกชนในเรื่องของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่หรือ Transit Agreement กับประเทศจีน นั้น ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมเตรียมความพร้อมผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต่อการการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้รับข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณา และเห็นว่า จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ การขนส่งผ่านแดนไปยังเอเชียกลางหรือยุโรปทำได้ ตามระเบียบขององค์การค้าโลก อย่างไรก็ตามการเปิดเส้นทางขนส่งใหม่ทั้งทางรถและทางรางผ่านจีนนั้น จะต้องมีการพูดคุยหารือกันในเวทีระดับนโยบายของทั้ง 2 ประเทศหากมีโอกาสก็นำไปหารือในเวทีเจรจาระดับนโยบายระหว่างไทย-จีนต่อไป

ล่าสุดมีรายงานว่า 3 บริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ Maersk ของเดนมาร์ก, CMA CGM ของฝรั่งเศส และ MSC ของสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมใจกันประกาศยุติการให้บริการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกจากรัสเซียเป็นการชั่วคราว แต่ยกเว้นไว้สำหรับสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าไปยังรัสเซียวิ นอกจากนี้ ยังมีการปิดน่านฟ้ายูเครน และรัสเซีย ห้ามสายการบินต่างชาติ จากสหภาพยุโรป หรือ EU และพันธมิตรที่ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียบินผ่าน ไม่งั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย  ส่งผลให้สายการบินต่างๆจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ได้ว่า จะยุติได้เมื่อไร  แต่การเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทางโลจิสติกส์ จากการที่รัสเซียและยูเครน เริ่มปิดท่าเรือ ทำให้ผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนเส้นทาง และพิจารณาขนส่งผ่านแดนจากจีนไปประเทศอื่นแทนรัสเซียย่อมเป็นเรื่องที่ดี และเป็นการป้องกันความเสี่ยงรวมทั้งเป็นทางเลือกใหม่ในระยะยาวต่อการขนส่งสินค้าของไทยต่อไปด้วย