คมนาคมเปิดแนวทางฟื้นคดี "โฮปเวลล์" ชูประเด็นนับอายุความขัดรัฐธรรมนูญ

คมนาคมเปิดแนวทางฟื้นคดี "โฮปเวลล์" ชูประเด็นนับอายุความขัดรัฐธรรมนูญ

คมนาคมเปิดแนวทางฟื้นคดี “โฮปเวลล์” หลังศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ชูประเด็นการนับอายุความขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา)

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไว้พิจารณา

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยถึงความคืบหน้าของการต่อสู้คดีโฮปเวลล์ โดยระบุว่า จากการศึกษาแนวทางรื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์สู่การพิจารณาตามขั้นตอนทางกฎหมายนั้น พบว่าแนวทางที่ภาครัฐมีความเป็นไปได้ในการต่อสู้มี 2 แนวทาง คือ 

1.การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการนับอายุความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม

2.แนวทางในการสืบหาผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 10 วรรค 2 ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ตามวรรค 1 ให้มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่ที่หน่วยงานของรัฐรู้การละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่

โดยกระทรวงคมนาคมได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางไปก่อนหน้านี้เพื่อขอให้ดำเนินการวินิจฉัยในประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เพื่อให้คดีเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอายุความของคดีควรเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ พร้อมทั้งขอใช้สิทธิทางกฎหมายชะลอการจ่ายชดเชยความเสียดายจากการยุติโครงการ

ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชดเชยค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในจำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 ซึ่งเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสินคดี ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 รวม 25,411 ล้านบาท

สำหรับแนวทางต่อสู้คดีประเด็นการนับอายุความนั้น สืบเนื่องมาจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ศาลปกครองสูงสุดที่ได้กำหนดการนับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค.2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์นั้น เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่

โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินยังขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่

นอกจากนี้การกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว

ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.จะยื่นรื้อคดีใหม่ ทั้งประเด็นการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการนับอายุความของคดีที่ถูกต้องว่าคดีดังกล่าวหมดอายุความไปก่อนหน้านั้นหรือไม่