ฝนหลวง เปิด 10 หน่วยบินพร้อมปฏิบัติสู้แล้ง 65 ทั่วประเทศ

ฝนหลวง เปิด 10 หน่วยบินพร้อมปฏิบัติสู้แล้ง 65 ทั่วประเทศ

เฉลิมชัย เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 พร้อมปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์

โดยภายในงานมีการประกอบพิธีสงฆ์ การตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 ชุด ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 7 ชุด ชุดปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 1 ชุด และชุดปฏิบัติการฝนหลวงของกองทัพอากาศ จำนวน 1 ชุด

 

ฝนหลวง เปิด 10 หน่วยบินพร้อมปฏิบัติสู้แล้ง 65 ทั่วประเทศ

การแสดงบินหมู่ของเครื่องบินฝนหลวงและเฮลิคอปเตอร์ และการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกไปปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะปฏิบัติภารกิจในปีนี้

นายเฉลิมชัย  กล่าวว่า ด้วยในขณะนี้ หลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศเริ่มมีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้น น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ  มีปริมาณน้ำเก็บกักลดลงตามลำดับ

และในช่วงฤดูร้อนนี้ มีแนวโน้มของสถานการณ์การเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ

 

โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565  กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้าง ความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน

ตั้งแต่วันที่   3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ 

- ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก

- ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก

- ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.อุดรธานี 

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.บุรีรัมย์

- ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี

- ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ระยอง โดยใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงและ

การบินเกษตร จำนวน 24 ลำ และ ได้รับการสนับสนุนเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET จำนวน 1 ลำ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดตั้งปฏิบัติการ

ฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและความต้องการน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

ฝนหลวง เปิด 10 หน่วยบินพร้อมปฏิบัติสู้แล้ง 65 ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในด้านข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำ 

การวิเคราะห์-วิจัยข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด