รับแรงกระแทก ‘สงครามยืดเยื้อ’

รับแรงกระแทก ‘สงครามยืดเยื้อ’

ความท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญปีนี้ คือ สงคราม โควิด เงินเฟ้อ และเทคโนโลยี เป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ โลกอาจกำลังถูกจัดระเบียบใหม่ คนบนโลกก็ต้องปรับตัวให้ทัน และรับมือให้ได้

ประเมินกันว่า สงครามความตึงเครียดระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” จะไม่จบเร็ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อยาวนานขึ้น เราอาจต้องอยู่กับ “สงคราม” ที่มนุษย์ห้ำหั่นกันเอง และ สงครามเชื้อโรคที่บุกโจมตีมนุษย์กันไปอีกยาวๆ นับเป็นความท้าทายที่ “เรา” ต้องเตรียมพร้อมรับมือ

หากสงครามยังดำเนินต่อไป แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก ประเทศไทยเราเตรียมพร้อมรับมือไว้แค่ไหน ลำพังแค่ “สงครามโรค” ที่ต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันก็นับว่า “สาหัส” มากอยู่แล้ว 

จำนวนคนติดเชื้อโควิดในประเทศที่ยังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนติดโควิดกันง่ายขึ้น ความคล่องตัวในการทำกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจก็ยังไม่เต็ม 100 ความหวังจากท่องเที่ยวยังไม่สามารถพลิกฟื้นได้เต็มที่ สงครามก็ดันปะทุขึ้นอีก ความตึงเครียดระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน ที่ยังไม่รู้จุดจบ แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง แต่เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนผลกระทบ

โดยเฉพาะ “ราคาน้ำมัน” สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว หากการสู้รบยืดเยื้อรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันอาจทะลุเหนือขึ้นไปอีก ประเทศไทยเตรียมรับแรงกระแทกจากผลกระทบครั้งนี้ดีพอแล้วหรือยัง ล่าสุดพลังงานเตรียมกู้เงินเพิ่มอีกหมื่นล้านเพื่อพยุงราคาน้ำมันไว้ คิดว่าจะพยุงต่อได้อีกนานแค่ไหน  

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ออกมาแสดงความเป็นห่วง ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ เพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก และจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ดันต้นทุนการผลิตที่จะแพงขึ้นมาก

อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน กกร.เสนอให้รัฐตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) เป็น Focal Point ติดตามและประเมินสถานการณ์ให้เอกชนรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น การปิดน่านฟ้า การหยุดเดินเรือ ผลกระทบกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตร เพื่อนำมากำหนดแผนส่งออกสินค้าของไทย

ความท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญปีนี้ คือ สงคราม โควิด เงินเฟ้อ และเทคโนโลยี เป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ โลกอาจกำลังถูกจัดระเบียบใหม่ คนบนโลกก็ต้องปรับตัวให้ทัน และรับมือให้ได้ ศึกษาผลกระทบรอบด้าน มองทุกมิติ มองเกมความขัดแย้งให้ออก ดึงโอกาสของความท้าทายออกมา ประเทศไทยต้องเชื่อมโลกไว้ให้ได้ โลกไปถึงไหน เราต้องเกาะเทรนด์ไว้อย่าให้ตกขบวน วาดภาพแห่งอนาคตให้ถูก แม้สุดท้ายจะเจ็บตัวไปบ้าง ก็อาจเป็นแค่รอยช้ำ ไม่ใช่รอยแผลลึกที่ยากต่อการรักษา