ทองคำยืนหยัดเซฟเฮฟเว่น ราคาพุ่งหวั่นเศรษฐกิจถดถอย

ทองคำยืนหยัดเซฟเฮฟเว่น ราคาพุ่งหวั่นเศรษฐกิจถดถอย

สินทรัพย์ปลอดภัยมักจะเป็นที่นึกถึงตลอดเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงไม่ว่าจะเป็น สงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด ทำให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย หนึ่งในนั้นมีทองคำยังยืนหยัดเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบดีในระยะยาวและยังเก็งกำไรในระยะสั้นไปในตัว

สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 และมีท่าทีจะยื้ดเยื้อด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศต่อรัสเซีย ว่าจะเป็นกลุ่มอียู และสหรัฐที่ดำเนินมาตรการกันสถาบันการเงินรัสเซียออกจากระบบ SWIFT

ระบบดังกล่าวเชื่อมโยงสถาบันการเงินต่างๆมากกว่า 11,000 แห่งครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกกระทบต่อการค้าและการทำธุรกรรมการเงินของรัสเซียทันที ยังไม่นับรวมกับการขึ้นบัญชีผู้นำประเทศและธนาคารหลักของรัสเซียยิ่งพลักดันให้เกิดความวิตกผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

ภาพดังกล่าวสะท้อนจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ค้นปี 2565 ราคาทองคำอยู่ที่ 1,828 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (1 ม.ค. 65) สิ้นเดือนก.พ. ราคาอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์ต่ออนซ์ (28 ก.พ. 2565) หรือเพิ่มขึ้น 3.93 % ทำราคาสูงสุดที่ 1,961 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (24ก.พ.2565)

ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศเดือนม.ค. 2565 ราคาขายสูงสุดที่ 28,607.69 บาทต่อบาททองคำ ราคารับซื้อ 28,507.69 บาทต่อบาททองคำ และในเดือนก.พ. 2565 ราคาขายสูงสุดที่ 28,710.42 บาทต่อบาททองคำ ราคารับซื้อ 28,610.42 บาทต่อบาททองคำ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศแตะที่ 30,000 บาทต่อบาททองคำ สูงสุด 30,500 บาทต่อบาททองคำ (24 ก.พ. 2565 )

นอกจากนี้แพลตฟอร์มการลงทุนในทองคำ “Krungthai Gold Wallet”    รายงานมูลค่าซื้อขายสูงสุดนับจากการเปิดให้บริการซื้อ-ขายทองคำออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยนักลงทุนส่วนใหญ่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าทำการซื้อ-ขายทองคำและสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์และสกุลเงินที่ปลอดภัย

หลังจากมีรายงานว่ารัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลต่อราคาทองคำแกว่งตัวผันผวนระหว่างวันกว่า 90 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์และปรับขึ้นสูงสุดของสัปดาห์อยู่ที่ 1,976.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแตะที่ระดับ 32.885 บาทต่อดอลลาร์และมีแนวโน้มจะปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

ราคาทองคำยังมีการคาดการณ์มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น หลังจากราคาทดสอบที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งปัจจัยเร่งคือความเคลื่อนไหวสถานการณ์ในรัสเซีย – ยูเครนตึงเครียดทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายสินทรัพย์เสี่ยง แล้วกลับเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง

บวกกับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่ทยอยปรับตัวขึ้นร้อนแรงในฝั่งตะวันตกที่ฟื้นกำลังซื้อขจากโควิด แต่มาเผชิญราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและซ้ำเติมด้วยรัสเซียในฐานเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก ทำให้ราคาน้ำมันยืนเหนือ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกทันที

ที่ผ่านมาในช่วงการระบาดโควิด-19   ราคาทองคำได้พิสูจณ์การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยด้วยราคาปรับขึ้นจากต้นปี 2564 ราคาอยู่ที่ 1,950 ดอลลาร์ต่ออนซ์ จนราคาปรับตัวลดลงหลังเผชิญการแพร่ระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์เดลต้าทั่วโลกจนต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 1,682 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (31 มี.ค. 2564)และเมื่อการระบาดลดความรุนแรงกลับมาผ่อนคลายมาตรการราคาทองคำยืน 1,913 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (1 มิ.ย. 2564)

ปัจจุบันแม้จะมีทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ว่ากันว่า “บิตคอยน์” คือ ทองคำดิจิทัล หรือสามารถเข้ามาแทนที่การลงทุนในทองคำได้ในอนาคต หากแต่ราคาทองคำที่ปรับตัวตอบรับกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจยังทำให้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในพอร์ตลงทุน