ปตท. ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย

ปตท. ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย

ปตท. คาดน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 65 ที่ 81 - 86 ดอลลาร์ ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย เล็ง FID โรงงานผลิตอีวีครึ่งปีนี้ ปลื้มยอดเช่ารถอีวีกว่า 90% ปีนี้เพิ่มเป็น 500 คัน กางแผนลงทุน 5 ปีกว่า 9.4 แสนล้าน ดันสัดส่วนธุรกิจใหม่ 30% จากปัจจุบันไม่ถึง 5% ในปี 73

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ที่ 81-86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าปี 2564 อยู่ที่ 69.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจะส่งผลให้รายได้ไตรมาส1/2565 ของ ปตท.มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันดิบช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ สูงกว่าไตรมาส 4/2564 ทำให้การดำเนินงานกลุ่ม ปตท.ปี 2565 เติบโตกว่าปี 2564 

ปตท. ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย สำหรับ ปัญหาทางการเมืองระหว่างรัสเซีย และยูเครน หากรุนแรงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่จะไม่ส่งผลกระทบจากจัดหาน้ำมัน เพราะแหล่งซื้อน้ำมันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบ และปริมาณนำเข้าน้อยมาก แต่จะส่งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจะไม่กระทบต่อก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เนื่องจากไทยซื้อก๊าซ ในพื้นที่ห่างไกลจากการสู้รบ และปตท.สามารถจัดหาก๊าซ รองรับความต้องการใช้ในประเทศ และไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน

ทั้งนี้ จากการที่ ปตท.มีสัญญาซื้อขายก๊าซ ระยะยาวที่ 5.2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดผลกระทบด้านราคาก๊าซ ได้ในระดับหนึ่ง โดยในปีนี้ ปตท.ได้นำเข้า Spot LNG เดือนม.ค.- ก.พ.2565 ที่  6 แสนตัน ระดับราคาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนเดือนมี.ค.2565 อยู่ระหว่างพิจารณา โดยทำสัญญาจองซื้อ LNG ก่อนทำให้ได้ราคาอยู่ที่ 26.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

นายอรรถพล กล่าวว่า ตามกรอบวิสัยทัศน์  “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง กลุ่มปตท.ได้วางแผนลงทุน 5 ปี (2565-2569) กว่า  9.4 แสนล้านบาท โดย 80% ยังขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซ, ท่อส่งก๊าซ คลัง LNG และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 มูลค่าการก่อสร้าง 3 หมื่นล้านบาท และ 20% จะลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้แตะ 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันราว 5%

ปตท. ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย สำหรับการลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ ในส่วนของ Future Energy จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ปี 2573 พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้ง บริษัท ฮอริซอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS)

ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วงไตรมาส 2/2565 จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโรงงานพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถEV และเริ่มการผลิตในปีไตรมาส1/2567 กำลังผลิต 50,000 คันต่อปี และเพิ่มเป็น 150,000 คันต่อปีในปี 2573 

รวมถึง จัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC สนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV 

ปตท. ชี้ปัญหา “รัสเซีย - ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าพลังงานไทย และยังร่วมมือกับ กับโฮซอน ผู้ผลิตรถไฟฟ้าจากจีน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดในเมืองไทย ทั้งการร่วมทุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จอีวี รวมถึงสถานีซ่อมบำรุง EV

นอกจากนี้ ARUN PLUS ยังได้จำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลศักยภาพ พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go ตลอดจนจัดตั้ง บริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนสนับสนุนให้เกิดการผลิต และการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ 

ส่วน Beyond ปตท.จะ รุกธุรกิจใหม่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก สู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โดย บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาได้นำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ให้กับประเทศเพื่อดูแลประชาชน 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization)

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์