สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนภาคธุรกิจ ค่าครองชีพ-เศรษฐกิจโลกอย่างไร

สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนภาคธุรกิจ ค่าครองชีพ-เศรษฐกิจโลกอย่างไร

“รัสเซีย” ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหรือแร่พื้นฐานหลายชนิดให้แก่โลก สงครามและการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เสี่ยงก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ประการ “ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น-ซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้หนักขึ้น”

การเปิดฉากสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เสี่ยงกระทบราคาสินค้าหลายชนิดเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตสำคัญในสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าต้นน้ำในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอื่น

จากการประเมินของ Bloomberg, BP Statistical Review, FAO, World Bureau of Metal Statistics และ USGS (รวบรวมโดย The Economist) พบว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตหรือป้อนทรัพยากรหลักอย่างน้อย 5 ประเภท ได้แก่ แพลเลเดียม แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี และอลูมิเนียม โดยคิดเป็นส่วนแบ่งของปริมาณผลผลิตโลกดังนี้

- แพลเลเดียม ปริมาณผลผลิตแพลเลเดียมของรัสเซียในปี 2020 มีสัดส่วน 43% ของปริมาณผลผลิตโลก

- แก๊สธรรมชาติ ปริมาณผลผลิตแก๊สธรรมชาติของรัสเซียในปี 2020 มีสัดส่วน 16.6% ของปริมาณผลผลิตโลก

- น้ำมัน ปริมาณผลผลิตน้ำมันของรัสเซียในปี 2020 มีสัดส่วน 12.1% ของปริมาณผลผลิตโลก

- ข้าวสาลี ปริมาณผลผลิตข้าวสาลีของรัสเซียในปี 2020 มีสัดส่วน 11% ของปริมาณผลผลิตโลก

- อลูมิเนียม ปริมาณผลผลิตอลูมิเนียมของรัสเซียในปี 2020 มีสัดส่วน 5.6% ของปริมาณผลผลิตโลก

จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นว่ารัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหรือแร่พื้นฐานหลายชนิดให้แก่โลก ทั้งนี้พบว่า หากเทียบ ณ วันที่ 24 ก.พ ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนกับเมื่อตอนต้นปี 2565 สินค้า 5 ชนิดดังกล่าว มีการปรับเพิ่มราคาอย่างรุนแรง

- ราคาแพลเลเดียมและน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้น 21-25% จากต้นปี 2565 

- ราคาแก๊สธรรมชาติ ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากต้นปี 2565 

- ราคาข้าวสาลีปรับเพิ่มขึ้น 20% จากต้นปี 2565 

- ราคาอลูมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากต้นปี 2565 

(หมายเหตุ ราคาต้นปี 2565 เป็นราคา ณ วันที่ 4 ม.ค. 2565)

นอกจากนี้ ผลจากการที่รัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน มีแนวโน้มทำให้ในอนาคตอันใกล้ ถ้าสงครามยืดเยื้อ ราคาสินค้าดังกล่าวเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก รัสเซียเสี่ยงจำกัดการส่งออกสินค้าเหล่านี้เพื่อตอบโต้หรือใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยน

การปรับเพิ่มขึ้นในราคาสินค้าหลัก 5 ประเภทตลอดจนการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เสี่ยงก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก เสี่ยงทำให้ราคาอาหาร สินค้าเกษตร และสินค้าหลายประเภทแพงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ

รัสเซียและยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลายอย่าง เช่น สองประเทศนี้ส่งออกข้าวสาลีคิดเป็นหนึ่งในสี่ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากเมล็ดทานตะวัน สองประเทศนี้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากเมล็ดทานตะวันทั้งในรูปเมล็ดหรือน้ำมันกว่าครึ่งของปริมาณผลผลิตทั้งโลก การที่ราคาสินค้าเกษตรพื้นฐานเหล่านี้แพงขึ้น ทำให้อาหารทุกประเภทมีแนวโน้มแพงขึ้นไปด้วย รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ที่เสี่ยงแพงขึ้นจากการที่ผู้บริโภคปรับตัวหันมาซื้อทดแทน มีการประเมินว่าราคาข้าวสาลีอาจเพิ่มขึ้นเท่าตัวทีเดียวหากสงครามระหว่างสองประเทศยังยืดเยื้อต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าทั้ง 5 ประเภทเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น น้ำมัน ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทุกอย่าง การที่ราคาสินค้าเหล่านี้แพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจำนวนมากในโลกต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่วันนี้รุนแรงอยู่แล้ว ให้รุนแรงขึ้น

ประการที่สอง เสี่ยงซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้หนักขึ้น

นอกจากโภคภัณฑ์เหล่านี้เสี่ยงราคาสูงขึ้น มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้ต่อรัสเซีย เสี่ยงนำมาซึ่งการตอบโต้ของรัสเซียโดยจำกัดการส่งออกสินค้าสำคัญต่างๆ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่ยังดำรงอยู่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิดให้รุนแรงขึ้น

เช่น หากรัสเซียจำกัดการส่งออกแพลเลเดียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับใช้ผลิตแคทตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ (catalytic converter) ชิ้นส่วนสำคัญในท่อไอเสีย หรืออย่างนิกเกิล ที่รัสเซียก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันนิกเกิลถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ตลาดรถยนต์สมัยใหม่กำลังต้องการ

จะเห็นว่าหากรัสเซียจำกัดการส่งออกโภคภัณฑ์พื้นฐานหรือแร่โลหะเหล่านี้ เสี่ยงกระทบห่วงโซ่การผลิตสินค้าหลายประเภท ทำให้การผลิตสินค้าหลายอย่างต้องหยุดชะงัก กระทบต้นทุนภาคธุรกิจ ค่าครองชีพ และบรรยากาศเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 

ดังนั้น หากสงครามนี้ไม่ยืดเยื้อ ก็คงไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากนัก ในทางตรงข้าม หากสงครามยืดเยื้อ มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ก็เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยลงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเปราะบางมากอยู่แล้ว