เปิดเส้นทาง TPAC จาก MODERN ถึง “กลุ่มIVL” ก่อนอดีตผู้บริหาโดนอินไซด์ฯ หุ้น

เปิดเส้นทาง TPAC จาก MODERN ถึง “กลุ่มIVL” ก่อนอดีตผู้บริหาโดนอินไซด์ฯ หุ้น

ย้อนรอยเส้นทาง “หุ้นTPAC” ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ของ “ตระกูลบุษยโภคะ” ก่อนส่งต่อสู่ “กลุ่มโลเฮีย” แต่ล่าสุด ก.ล.ต. งัดมาตรการลงโทษทางแพ่ง อดีตผู้บริหารและกรรมการ MODER-IVL พร้อมพวกรวม 12 ราย กรณีซื้อหุ้น TPAC โดยอาศัยข้อมูลภายใน “อินไซด์ฯ” สั่งชดใช้เงินรวม 12.81 ล้านบาท

ในช่วงเดือนต.ค.ปี 2558 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ! ของ บริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติก เช่น ขวด และ ฝา ของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร, น้ำ, นม, ยา, แชมพู, สบู่เหลว เป็นต้น หลัง “อานุช โลเฮีย” ซึ่งเป็นบุตรชายของ “อาลก โลเฮีย” กรรมการบริหาร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 47.90% แต่ ณ ปัจจุบัน “อานุช” ถือหุ้นอยู่ 69.11% (10 พ.ค.2564) 

โดยเป็นการ “ซื้อหุ้น” ต่อจาก บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MODERN ของ “ตระกูลบุษยโภคะ” ผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 100,000,000 หุ้น คิดเป็น 48.54% (ตัวเลข ณ 14 พ.ค. 2558) ซึ่งขายหุ้น TPAC ทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 7.80 บาท และขาย TPAC-W1 จำนวน 20 ล้านหน่วย หน่วยละ 2.80 บาท ซึ่งในขณะนั้นมี “ทักษะ บุษยโภคะ” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ TPAC และเป็นประธานกรรมการบริหารของ MODERN (ณ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ MODERN) รวมทั้งมี “ธีรวิทย์ บุษยโภคะ” ผู้ถือหุ้น TPAC ลำดับ 4 จำนวน 16,280,000 หุ้น คิดเป็น 7.90% (ตัวเลข ณ 14 พ.ค. 2558) นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ TPAC 

สำหรับ รายการพบ "บิ๊กล็อต" หุ้น TPAC เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2558 จำนวน 8 รายการ จำนวน 126,407,400 หุ้น มูลค่าซื้อขาย 985.98 ล้านบาท เทรดในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 7.80 บาท สูงกว่าราคาบนกระดานเทรดหลักที่ปิดตลาดที่ 7.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+1.32%) มูลค่าซื้อขาย 989.34 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 7.65 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 7.75 บาท และราคาลงต่ำสุด 7.60 บาท 

ทั้งนี้ การเข้ามาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TPAC ของ “กลุ่มโลเฮีย” (กลุ่มผู้บริหาร IVL) และ ได้เปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่เข้ามานั่งบริหารทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการลูกค้าทั่วโลก มีเป้าหมายในการขยายกิจการโดยการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศต่างๆ ทำให้บริษัทมีการเปลี่ยนแปลง “กลยุทธ์การเติบโต” (Growth Strategy) ผ่านการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) มากขึ้นในธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติกเริ่มตั้งแต่การเข้าซื้อหุ้น

การเข้าซื้อกิจการครั้งที่ 1 ในไตรมาส 2 ปี 2561 เป็นการซื้อ “บริษัท คัสตอม แพค จำกัด” โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ สมุทรปราการ (TPAC BAngna) การเข้าซื้อกิจการครั้งที่ 2 ไตรมาส 3 ปี 2561 เป็นการซื้อหุ้น 80% ของบริษัท “Sunrise Container” ที่มีโรงงาน 5 โรงงาน (และกำลังจะเปิดอีก 2 โรงงาน) ตั้งอยู่ที่ภาค ตะวันตก และ ภาคเหนือ ของประเทศอินเดีย (TPAC India) และ ได้ซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 20% ในไตรมาส 3 ปี 2563 

การเข้าซื้อกิจการครั้งที่ 3 ไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นการซื้อหุ้น 89% ของบริษัท “Sun Packaging System” ในประเทศ UAE จำนวน 1 โรงงาน และการเข้าซื้อกิจการครั้งที่ 4 ไตรมาส 1 ปี 2564 “เป็นการซื้อหุ้น 80% ของบริษัท Combipack ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 1 โรงงาน ส่งผลทำให้ปัจจุบันมีโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 11 โรงงาน แบ่งเป็นประเทศไทย 4 โรงงาน ประเทศอินเดีย 5 โรงงาน (กำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 โรงงาน) ประเทศ UAE 1 โรงงาน และประเทศมาเลเซีย 1 โรงงาน

โดยการเติบโตของ TPAC จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายกับการเติบโตของ IVL ในช่วงที่ผ่านมา คือ การควบรวมกิจการ และ พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต, ขยายกำลังการผลิต และ การบริหารจัดการภายใน ทำให้บริษัทที่เข้าไปควบรวมกิจการมีอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น

สะท้อนผ่าน ผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี "กำไรสุทธิ" 31.48 ล้านบาท 138.84 ล้านบาท และ 321.98 ล้านบาท ขณะที่มี "รายได้" 2,584.70 ล้านบาท 3,797.70 ล้านบาท และ 4,033.46 ล้านบาท ตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนดีลการซื้อหุ้น TPAC ไม่น่ามีปัญหา ! และธุรกิจหลัง IVLเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังเติบโต ! ทว่า ล่าสุด (25 ก.พ.2565) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 12 ราย กรณีซื้อ “หุ้น TPAC” และ “ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ หรือ TPAC-W1” โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 12,810,027.82 บาท

หลังได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บุคคลจำนวน 12 ราย ได้แก่ (1) นายทักษะ บุษยโภคะ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MODERN (2) นายชัชชัย ธรรมารุ่งเรือง (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการบริหาร MODERN) (3) นายกวีวุฒิ เนื่องจำนงค์ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของ MODERN) (4) นายราเมซ กุมาร นาซิงปุระ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือของกลุ่ม IVL) 

(5) นาย Ashok Jain (6) นางสาวธัญธร ตันติธรรม (7) นาย Alexandru Erhan (8) นาย Anish Goyal (9) นายธนรรถ บุษยโภคะ (10) นางสาวเบญจมาศ ธรรมารุ่งเรือง (11) นางสาวอนุตรีย์ เนื่องจำนงค์ และ (12) นางสาวพีรกานต์ เนื่องจำนงค์ ได้ซื้อหุ้น TPAC และ TPAC-W1 โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือการกระทำความผิด

ทั้งนี้ นายทักษะ นายชัชชัย และนายกวีวุฒิ นายราเมซ และพนักงานของ IVL 4 ราย ได้แก่ นาย Ashok นางสาวธัญธร นาย Alexandru และนาย Anish ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC ระหว่าง MODERN (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPAC) กับกลุ่มตระกูลโลเฮีย (มีความเกี่ยวข้องกับ IVL) ซึ่งทำให้กลุ่มตระกูลโลเฮียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ TPAC โดยกำหนดราคาซื้อสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น

ในระหว่างวันที่ 22 ก.ค.-8 ต.ค. 2558 นายทักษะได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายธนรรถ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่นายธนรรถซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC นายชัชชัยได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวเบญจมาศ และนายกวีวุฒิได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอนุตรีย์และนางสาวพีรกานต์ ขณะที่นายราเมซ นาย Ashok นางสาวธัญธร และนาย Anish ได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และนาย Alexandru ได้ซื้อหุ้น TPAC และ TPAC-W1 ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ก่อนหน้า TPAC เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 12 ต.ค. 2558 

การกระทำของนายทักษะ นายชัชชัย นายกวีวุฒิ นายราเมซ นาย Ashok นางสาวธัญธร นาย Alexandru และนาย Anish เป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์ TPAC โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ปัจจุบันการกระทำดังกล่าวยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 242 และ มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ การกระทำของนายทักษะยังเป็นความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น

ส่วนการกระทำของนายธนรรถ นางสาวเบญจมาศ นางสาวอนุตรีย์ และนางสาวพีรกานต์ เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์ TPAC โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 241 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 บัญญัติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้กับการกระทำความผิดดังกล่าวได้

ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลทั้ง 12 ราย โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด ดังนี้ (1) นายทักษะ จำนวน 1,180,000 บาท (2) นายชัชชัย จำนวน 863,700 บาท (3) นายกวีวุฒิ จำนวน 6,601,432.50 บาท (4) นายราเมซ จำนวน 632,950 บาท (5) นาย Ashok จำนวน 569,940 บาท (6) นางสาวธัญธร จำนวน 512,430 บาท (7) นาย Alexandru จำนวน 536,242 บาท (8) นาย Anish จำนวน 580,000 บาท สำหรับ (9) นายธนรรถ (10) นางสาวเบญจมาศ (11) นางสาวอนุตรีย์ และ (12) นางสาวพีรกานต์ ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง รายละ 333,333.33 บาท

ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ

การที่ ค.ม.พ. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 12 ราย อาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 3/2560

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง