เอกชนห่วง ’บริษัทลูก’ อีอีซีผิด TOR ย้ำทุกอย่างต้องโปร่งใส

UTA เรียกร้องอีอีซีนำเอกสารทุกอย่างกางคุยให้ชัดเจนกรณีตั้งบริษัทลูกคุมพื้นที่ ATZ เหตุเป็นการลงทุนระดับ 300,000 ล้านบาท ทุกอย่างต้องโปร่งใส

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือ UTA วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ระบุรู้สึกแปลกประหลาดใจมากที่กับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า อีอีซี จะมีการจัดตั้งบริษัทลูก คือบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์ ขึ้นมา ทั้งที่ UTA เป็นบริษัทที่ลงนามร่วมทุนกับภาครัฐ ต้องทำงานร่วมกันถึง 50 ปี แล้วต้องมาทราบข้อมูลจากสื่อ ยอมรับว่ากังวลค่อนข้างมาก เพราะโครงการนี้ UTA เป็นคู่สัญญากับ สกพอ.ตัวแทนของรัฐ หากคู่สัญญาเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทจำกัดขึ้นมา การทำหน้าที่จึงไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าการทำหน้าที่จะทำได้เร็วตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ฝั่งเอกชนเดินหน้าเต็มที่อยู่แล้ว แต่เมื่อคู่สัญญาเปลี่ยนไปย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความกังวลใจ

อีกข้อหนึ่ง คือ บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์ เข้ามาบริหารพื้นที่ Aviation Technical Zone หรือ ATZ ขนาด 474 ไร่ ทำศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือ MRO ซึ่งต้องดูว่าจะอยู่ส่วนไหนในโครงการ เพราะ UTA รับผิดชอบลงทุนทั้งหมด 6,500 ไร่ แต่หากการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาแล้วเกิดการแข่งขันกันเอง จะเกิดเป็นผลประโยชน์ทำซ้อนหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ควรนำเอกสารทุกอย่างมาคุยกันให้ชัดเจน เนื่องจากการลงทุนระดับ 300,000 ล้านบาท ทุกอย่างต้องโปร่งใส แล้วทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

“ผมว่าอันแรกนะ เราต้องมาคุยกัน เอาข้อมูลที่เป็นเอกสารมาคุยกัน เพราะต้องเรียนว่าโครงการนี้มูลค่าการลงทุนเป็นแสนล้าน ระยะเวลา 50 ปี รายละเอียดมันเยอะ ดังนั้นควรทำให้ชัดเจน โปร่งใสตั้งแต่แรกดีที่สุด เราเข้าใจผิด รัฐเข้าใจผิด ที่ถูกอยู่ตรงไหน เดินร่วมกันอย่างไร แล้วมันเกิดความจำเป็นตรงไหนอย่างไร ทำไมต้องมีสิ่งนี้ ทำไมต้องมีบริษัทนี้ขึ้นมา มีบริษัทนี้ขึ้นมาตอบโจทย์อะไรที่ วิน-วิน มันถึงจะไปด้วยกัน เราบอกว่าเราค้านไหม ถ้าค้านคือค้านแบบคนไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วอาจจะไม่ค้าน ตอบไม่ได้”

หากดูข้อมูลที่ปรากฎเบื้องต้น จะพบว่า การกระทำนี้ผิดหลัก TOR ที่ระบุชัดเจนว่า เป็นคู่สัญญากับ สกพอ. แล้วจะมาเปลี่ยนตัวกลางคัน ซึ่งไม่ได้มาจากผลของกฎหมาย มีเพียงมติที่ตั้งขึ้นมาแล้วถ่ายโอนอำนาจกันไป ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงมาก กรณีถ้าผิดพลาดอะไรขึ้นมา บริษัทลูกที่ อีอีซี ตั้งมานี้จะรับผิดชอบแค่ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทหรือไม่ เพราะทางเอกชนต้องลงทุนเป็นหลักแสนล้าน ทั้งยังต้องส่งเงินเข้ารัฐทุกปีตามสัญญา แต่หากจะมาแข่งขันให้ซ้ำซ้อนกันอีกทุกอย่างจะลักลั่นไปหมด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของอำนาจหน้าที่ของรัฐต้องเป็นผู้ดำเนินการ กลับกันเมื่อมีเอกชนมาขั้น แม้จะถือหุ้นโดยรัฐ แต่องค์ประกอบก็ถูกเพิ่มขึ้นมาอีก ขั้นตอนทำงานทุกอย่างก็อาจจะยิ่งล่าช้าไปอีก หลังจากนี้ทาง UTA อยากขอให้ผู้บริหาร อีอีซี สกพอ.มาหารือกัน แล้วทำกติกาให้ชัดเจน