แนวรบหุ้นสื่อสารยุคดิจิทัล หลังTRUE-DTAC ควบรวม

แนวรบหุ้นสื่อสารยุคดิจิทัล   หลังTRUE-DTAC  ควบรวม

ความคืบหน้า 3 ค่ายหุ้นสื่อสารเปิดโฉมหน้าภายใต้บริบทใหม่ชัดเจนแล้วว่าการแข่งขันจากนี้ไปจะเหลือเพียง 2 ค่ายยักษ์ใญ่ ภายใต้เป้าหมายการแข่งขันที่ไม่ได้โฟกัสแค่รายได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเตอร์เน็ตอีกต่อไป

ดังนั้นธุรกิจกลุ่มสื่อสารเริ่มทยอยประกาศยุทธศาสตร์ออกมาต่างมุ่งไปยังกลุ่มพันธมิตรที่จะสามารถเข้ามาเสริมให้รายได้เติบโตและแข็งแกร่ง  แม้จะต้องควมรวบบริษัทระหว่างกันก็ตาม จากดีลที่บริษัท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กลายเป็นบริษัทร่วมทุนใหม่ “ซิทริน โกลบอล ”

เป้าหมายสำคัญตามที่ทั้ง 2 บริษัทชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วเล็งเห็นผลใหญ่ 2 เรื่อง คือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับเบอร์ 1 ในตลาด จากส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมาทันที จาก TRUE อยู่อันดับ 2 ที่  29 %  มีลูกค้าในมือ 32.25 ล้านราย  DTAC อยู่ในอันดับ 3 ที่22 %  ลูกค้าในมือ 19.6 ล้านราย สามารถไล่กวดกับเบอร์ 1 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 45%  ลูกค้าในมือ 44.1 ล้านราย

ปัจจัยสำคัญอีกด้านคือการลดต้นทุนแต่เพิ่มฐานรายได้   จากการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะลดดีกรีความร้อนแรงลงอย่างชัดเจน  และที่สำคัญคือการหันไปพุ่งเป้าสร้างฐานรายได้ใหม่ผ่านพันธมิตรในการลงทุน  

ธุรกิจดังกล่าวมาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, AI, IoT, Cloud  เทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology)ที่เห็นแล้วว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจทุกบริษัททั่วโลก จึงทำให้เมื่อทั้ง TRUE และ DTAC สามารถรวมกิจการกันได้

ด้าน TRUE จัดทัพใหญ่เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดาต้าด้วย New S-curve  ทั้ง ปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองและการอยู่อาศัยอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดีย โซลูชั่น และโซเชียลคอมเมิร์ซ การเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพเชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง (Metaverse)     

ส่องดูธุรกิจที่เป็นธงรบดั้งเดิมธุรกิจสื่อสารทั้ง TRUE และ DTAC เพิ่มความเข้มข้นด้านดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อดันฐานลูกค้าสู่ระบบ 5 G ซึ่งทั้ง 2 ค่ายครอบครองคลื่นไปมากถึง 7 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700MHz, 850MHz, 900 MHz, 1800MHz, 2100MHz, 2600MHz และ 26GHz  

ธุรกิจอินเตอร์เน็ต TRUE ว่าเป็นผู้นำด้วยจำนวนลูกค้าในมือ 4.6 ล้านราย ทิ้งห่างคู่แข่งค่อนข้างไกล  แม้ว่า DTAC จะไม่มีฐานลูกค้าดังกล่าว แต่หากรวมธุรกิจกันจำนวนลูกค้ากลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 19 ล้านราย มีสิทธิจะมาเพิ่มในธุรกิจนี้ได้ 

ส่วนธุรกิจที่น่าจับตามองคือธุรกิจดาวเทียมและดิจิทัล ถือว่าเป็นฐานใหม่และแนวโน้มจะเติบโตได้มาก   ส่งผลทำให้ TRUE ประกาศโอกาสที่จะเจาะธุรกิจนี้ผ่านการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม แทนการใช้คลื่น 5G เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารได้ทันที และยังต่อยอดไปสู่บริการอัจฉริยะอื่นๆ ที่ใช้แค่สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมเป็นหลัก

ที่น่าสนใจไม่น้อยธุรกิจการเงินที่ทั้ง 2 ค่าย จัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย มูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านดอลลาร์ มีโอกาสการสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการทางการเงินในอนาคต

เบอร์ 1 บริษัท  แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  จำกัดด (มหาชน) หรือ ADVANC  ย่อมไม่อยู่เฉยๆ แน่นอนมีเบอร์ 2 และ 3 เข้ามาท้าทายอยู่ข้างหน้า  และการมีผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF  มีความชัดเจนต้องการไปสู่ เทค คอมพานี จับมือกับกลุ่ม SINGTEL รุกดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียนด้วยกัน

หนุนธุรกิจธุรกิจดิจิทัลหลังจับมือกับรายใหญ่ อันดับ 1 ของโลก Binance เพื่อให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นหากเข้ามาทำธุรกิจในไทยอย่างชัดเจน  รวมไปถึงธุรกิจการเงินที่เริ่มชิมลางกับพันธมิตรใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ภายใต้ชื่อ AISCB

 หาก ADVANC   เข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ ผ่านทางบริษัทในกลุ่มอย่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กลายเป็นสปิงบอร์ดชั้นดีให้กับธุรกิจสื่อสารในอนาคตที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านดาวเทียมในอนาคต