“อาคม”ส่งสัญญาณยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ

“อาคม”ส่งสัญญาณยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ

“อาคม”ส่งสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับขึ้นจนกว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ คลังจะเร่งสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ จัดโดยธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) โดยระบุถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยในปี 2565ว่า เราต้องให้ความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 การดำเนินนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินจะต้องสอดประสานกัน

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565 นั้น เรามักจะได้ยินว่า เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ฉะนั้น นโยบายการเงินของสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก กรณีของเราการประสานนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินนั้น ก็สอดประสานกัน ซึ่งในช่วงที่เราประสบสถานการณ์โควิด-19 นโยบายการคลังจะทำงานหลัก โดยที่นโยบายการเงินจะผ่อนคลาย เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึง การกู้เงินมา 1.5 ล้านล้านบาท

“เรื่องการกู้เงินดังกล่าว จะเป็นภาระที่เราต้องใช้หนี้ต่อไป ฉะนั้น สถานการณ์อย่างนี้ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลาย คำถาม คือ ในปี 2565 ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เราจะขึ้นตามไหม ทางธปท.ก็จะพูดในประเด็นนี้ว่า เราต้องให้ความมั่นใจว่า เศรษฐกิจเราฟื้นตัวเต็มที่”

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากจะเรียนว่า ขณะที่ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณานโยบายการคลังที่ยั่งยืน ฉะนั้น เรื่องการบริหารจัดการหนี้สาธารณะของเราแม้จะขยายเป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพีแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะกู้ให้เต็มเพดาน ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นและวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ฉะนั้น การพัฒนาเรื่องการคลังที่ยั่งยืน ก็ต้องมองไปที่การใช้จ่ายและการหามาซึ่งรายได้ของภาครัฐ ก็คงเรียนว่า การขยายการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง

“หากมองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหรือเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันว่า โดยรัฐบาลก็ใช้จ่ายมากขึ้น ฉะนั้น การจัดเก็บรายได้ก็ต้องปรับตัวขึ้นไปทั้งในหลายประเทศของเราก็เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงจังหวะที่เหมาะสมก็คงมีแนวนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ”

ทั้งนี้ เรื่องของความยั่งยืนทางการคลังเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถือเป็นหนึ่งในโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวโยงกับทิศทางเศรษฐกิจไทย อาทิ การทุ่มเททรัพยากรทั้งของภาครัฐและเอกชนสำหรับการลงทุนในอีอีซี และ การสนับสนุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย , การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งไทยจะต้องปรับตัวในการลดการใช้ก๊าซคาร์บอนและใช้พลังงานทดแทน , การปรับตัวของภาคธุรกิจรับโครงสร้างประชากรสูงวัยและการดูแลสุขภาพ , การระดมทุนผ่านช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ , การสนับสนุนเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพ เป็นต้น

สำหรับเศรษฐกิจในปี 2565 นั้น หลายหน่วยงานคาดการณ์ทั้งไอเอ็มเอฟ หรือ เวิลด์แบงก์ ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสถารการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศ กรณีของไทยนั้น เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากปี 2564 แล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี เราเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าแพงและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า จะเป็นสถานการณ์ในช่วงสั้นๆ ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการออกมาดูแลแล้ว

“ในปี 2565 นั้น เป็นปีที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพื่อให้เศรษกิจโตต่อเนื่อง ส่วนจะช้าหรือเร็ว ก็ขอให้มีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง เชื่อว่า มาตรการภาครัฐก็ยังดำเนินการ เราไม่สามารถหยุดพัฒนาหรือลงทุนต่างๆ ก็ขอให้มั่นใจว่า การบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเงินและการคลังจะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้และผ่านโควิดไปด้วยกัน”