นักเศรษฐศาสตร์ จับตา ‘ยูเครน-รัสเซีย’ หวั่นกระทบ 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์ จับตา ‘ยูเครน-รัสเซีย’ หวั่นกระทบ 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์ แนะจับตา ‘ยูเครน-รัสเซีย’ หวั่นลามกระทบ 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ซีไอเอ็มบีไทย ชี้กระทบเงินเฟ้อพุ่ง ส่งออก ท่องเที่ยว ขณะที่เกียรตินาคินภัทร เชื่อเป็นสงครามสั่งสอน ไม่ได้หวังรบเอาชนะ ขณะที่กสิกร เชื่อกระทบเศรษฐกิจไทยน้อย ไม่หั่นเป้าจีดีพี

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กรณีความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แม้มองว่าความตึงเครียดดังกล่าวยังมีทางออก และท้ายที่สุดอาจไปจบลงที่โต๊ะเจรจา ส่งผลให้ไม่เกิดสงครามรุนแรงในระยะข้างหน้า

       แต่ภายใต้ความตึงเครียดดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ให้มีความผันผวนระยะนั้น และมองว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะมี

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 3ด้าน

  • เงินเฟ้อ
  • ส่งออก
  • ท่องเที่ยว

      โดยเฉพาะเงินเฟ้อจะเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด หากรัสเซียถูแซงก์ชั่นจากยุโรป ทำให้ยุโรปต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีโอกาสไปสู่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

      ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อของไทยและต่างประเทศเร่งตัวแรงขึ้น ดังนั้นมองว่าเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะคาดว่าสถานการณ์นี้จะลากยาวไปถึงกลางไตรมาส 2ได้

 

       ถัดมากระทบส่งออก และท่องเที่ยว แม้ไทยส่งออกไปรัสเซียไม่มาก หลักพันล้านดอลาร์สหรัฐ แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม ทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว

     ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันไทยส่งออกไปยุโรปถึง 10% ดังนั้นอาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวได้

      ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าไทยราว 4ล้านคน หรือ 4% ของนักท่องเที่ยวโดยรวม หากเศรษฐกิจรัสเซียกระทบ อาจมีผลต่อค่าเงินรัสเซียอ่อนค่าได้

     เหล่านี้อาจส่งผลให้รัสเซียเดินทางเที่ยวไทยน้อยลง เช่นเดียวกันยุโรป หากเศรษฐกิจชะลอตัว อาจเห็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มยุโรปเข้าไทยลดลงได้ ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของไทยในเวลานี้

 

สงครามสร้างบทเรียนมากกว่าเอาชนะ

    ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภาพที่เห็นระหว่างความตึงเครียดรัสเซียยูเคน มีโอกาสที่จะรบเยอะมาก เพราะรัสเซียเชื่อว่า ตัวเองเป็นต่อเพราะกุมกล่องดวงใจของเศรษฐกิจยุโรป และโลก เพราะมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ

     ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือการบุกต่อเนื่องของรัสเซียเพื่อดูว่ายุโรปจกล้าคว่ำบาตรรัสเซียหรือไม่

     แต่สุดท้ายมองว่า ความตึงเครียดครั้งนี้ ไม่ใช่เกมส์รบเพื่อเอาชนะ แต่มีลักษณะ การทำสงครามเพื่อสร้างบทเรียนมากกว่า จนกว่าอีกฝั่งหมอบ ผ่านการกดดันของรัสเซียต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ยุโรปอาจไม่กล้ารบ เพราะกุมกล่องดวงใจของเศรษฐกิจไว้

     แต่หากเกิดการแซงก์ชั้น ร้ายแรงที่สุด หากยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย โดยตัดออกจากระบบการเงิน ไม่ค้าขายและงดส่งออกเทคโนโลยี เหล่านี้ก็เชื่อว่ารัสเซียก็มีการเตรียมพร้อมไว้แล้วเช่นกัน

     ในด้านผลกระทบต่อไทย มีไม่มาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวไม่มากอยู่แล้ว แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมที่ความตึงเครียดครั้งนี้จะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง และมีผลกระทบต่อราคาก๊าซ พลังงานที่อาจถูกระทบตามมา

     “คำถามคือโดนกดดันขนาดนี้ยุเครนและนาโต้จะยอมหมอบตามรัสเซียและหาทางออกทางการฑูตหรือไ่ หรือจะต้องสู้ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านในยูเครนจะทนกับการบุกของรัสเซียได้นานขนาดไหนหรือกลายเป็นสงครามกองโจทร หรือรัฐบาลพลัดถิ่นและถ้ามีการคว่ำบาตรจริง เศรษฐกิจรัสเซียจะรับได้ขนาดไหนเพราะปี 2014 ที่ผ่านมาเงินรูเบิลอ่อนไปครึ่งหนึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวสูง เหล่านี้ต้องติดตามว่าเกมนี้จะจบอย่างไรเป็ฯการเดิมพันค่อนข้างใหญ่ของรัสเซีย หรือแค่เกมเกทับแล้วบลัฟแหลกหรือกล้าลุยจริงๆ” 

กสิกรมองสถานการณ์ไม่รุนแรง

     นาย เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า บนสมมุติฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าความตึงเครียดดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ การใช้กำลังในวงกว้าง แม้จะมีประเด็นการยึดพื้นที่ แต่เชื่อว่าผลกระทบอาจอยู่ในกรอบจำกัด เพราะอาจสูญเสียทั้งสองฝ่าย

     ซึ่งหากประเทศตะวันตก มีการคว่ำบาตรรัสเซีย มองว่าผลที่มา เศรษฐกิจรัสเซียอาจชะลอตัว และเกิดภาวะถดถอยได้ในบางไตรมาส ซึ่งอาจมีส่วนที่กระทบไทยบ้างแต่เชื่อว่าเป็นส่วนน้อย ดังนั้นมุมมองเศรษฐกิจไทยของกสิกรไทยขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง