ผ่า!! แผนบิ๊กคอร์ป 'กัลฟ์ - ซีพี' ลุยธุรกิจใหม่ !!

ผ่า!! แผนบิ๊กคอร์ป 'กัลฟ์ - ซีพี' ลุยธุรกิจใหม่ !!

ผ่าแผน 2 บิ๊กคอร์ป กัลฟ์ ซีพี ลุยธุรกิจน่านน้ำใหม่ กัลฟ์ ปักธงสู่ "ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ ขณะที่ ซีพี คิดใหญ่ มุ่ง "เทค คอมพานี"

หากเอ่ยถึง “ตัวจริง” ในแวดวง “อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า” ของเมืองไทย หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่ ภายใต้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF วางเป้าหมายปี 2565 กำลังผลิตเป็น 9,422 เมกะวัตต์ และเจ้าของตำแหน่งแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 ปีซ้อน (2562-2564) ซึ่งปี 2564 ถือครองหุ้น GULF สร้างความมั่งคั่ง (Wealth) กว่า 1.7 แสนล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กระทบภาคธุรกิจจะมากหรือน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้น หากกัลฟ์ยึดติดกับการเติบโตรูปแบบเดิมพบว่าโอกาสเติบโตยั่งยืนยากขึ้น จึงต้องเดินแผนเติบโต รักษาฐานที่มั่นเดิมในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าพร้อมรุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) สะท้อนผ่าน “บิ๊กดีล” เมื่อปี 2564 หลังกัลฟ์ประกาศซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH จนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 42.25% พร้อมกับส่งทีมงานเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ (บอร์ด) จำนวน 4 คน

จากการเข้าลงทุน “อินทัช” เมื่อปีก่อนถือเป็นการส่งสัญญาณแผนธุรกิจของ “กัลฟ์” จาก “ธุรกิจพลังงาน” กำลังมุ่งสู่ “ธุรกิจด้านเทคโนโลยี” และปี 2565 แผนธุรกิจจะชัดเจนขึ้น

“ยุพาพิน วังวิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เล่าว่า ทิศทางแผนธุรกิจนอกจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันขยายธุรกิจสู่ “ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล” พร้อมมองหาโอกาสธุรกิจที่บริษัทโฟกัสตลอดคือ “ธุรกิจพลังงาน - อินฟราสตรักเจอร์ - ดิจิทัล” โดยที่ไม่ใช่ “เทค คอมพานี” 

โดยวางเป้าหมายอนาคตสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรือ “ดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์” สะท้อนผ่านการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม “ไบแนนซ์” (Binance) “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Exchange) ที่มีปริมาณซื้อขายอันดับ 1 ในโลก ร่วมศึกษาและทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย ที่คาดว่าใช้เวลา 3-6 เดือน ศึกษาความเป็นไปได้ในคริปโทเคอร์เรนซี แพลตฟอร์ม  และ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ร่วมกับ สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชันส์ (SINGTEL) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

รุกธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

สอดคล้องล่าสุดที่ประกาศแผนธุรกิจปี 2565 ด้วยการขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตั้ง บริษัทกัลฟ์ อินโนวา เน้นลงทุนธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) เช่น ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) รวมถึงคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือธุรกิจเทคโนโลยีบล็อกเชน

“เรามองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันมนุษย์ และสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยจะขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจประเทศให้โตก้าวกระโดด อีกทั้งยังสร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้กัลฟ์อีกด้วย”

สำหรับ “เส้นทาง” การขยายอาณาจักรกัลฟ์ออกสู่ธุรกิจอื่น การขยับตัวแต่ละครั้ง ถูกจับตามองตลอด นับตั้งแต่ดีลซื้อหุ้น INTUCH  ซึ่งคาดว่าแผนซินเนอร์จี้น่าจะชัดเจนขึ้นในเดือนก.พ.นี้  

นโยบายสำคัญของการเข้าถือหุ้น INTUCH เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมูลค่าทรัพย์สิน (Optimize Asset Value) ในทั้ง 2 บริษัท เบื้องต้นมีแผนสร้างผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกันที่จะเกิดขึ้น (Potential Synergy Benefit) ในอนาคตคือ เตรียมพร้อมรองรับโอกาสจากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

บริษัทมีแผนนำดิจิทัลแพลตฟอร์มของอินทัช เช่น ระบบ ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์คอมพิวติ้ง มาต่อยอดการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้าของกัลฟ์ โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มคือ แอดวานซ์ฯ ที่มีฐานลูกค้าผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 43 ล้านเลขหมาย

ต่อยอดธุรกิจหนุนเติบโต

การต่อยอดดังกล่าว เช่น การซื้อขายไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) กับมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) รวมถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะขายไฟฟ้าตรงจากทางกัลฟ์ ที่ผลิตให้กับฐานลูกค้าของแอดวานซ์ฯ ที่มีมากในระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างเอกชนกับเอกชน (Peer to Peer Energy Trading) ภาพรวมจึงเป็นตลาดที่ดี และโอกาสโตสูง

ส่วนประเด็นบวกที่ชัดเจนจากการลงทุนใน อินทัช “ข้อแรก” เป็นการกระจายความเสี่ยงฐานธุรกิจเดิมคือ กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งทางด่วนพิเศษกับท่าเรือขนส่งสินค้า เพื่อเชื่อมสู่กลุ่มธุรกิจ ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ 

“ข้อสอง” เสริมสร้างการเติบโตของกำไรให้ อินทัช เนื่องจาก อินทัช มีกำไรต่อเนื่องทุกปีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กำไรกัลฟ์ที่รับรู้ตามสัดส่วนการถือหุ้นมีความสม่ำเสมอ และ “ข้อสาม” คือ การที่จะมีเงินปันผลรับส่วนเพิ่มเข้ามาจากอินทัช ที่มีการจ่ายเงินปันผลรวมเฉลี่ยย้อนหลังช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 8,500 ล้านบาทต่อปี 

ผนึกไบแนนซ์” ลุยสินทรัพย์ดิจิทัลไทย 

ขณะที่ เปิดศักราชใหม่ปี 2565 กัลฟ์ ส่ง “กัลฟ์ อินโนวา” ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม ไบแนนซ์ (Binance) เพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย ส่งผลการแข่งขันในตลาดซื้อขายคริปโทฯ ในไทยดุเดือดขึ้น

ความร่วมมือกับไบแนนซ์ กัลฟ์เห็นการเติบโตก้าวกระโดด ของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในไทย จากการที่เศรษฐกิจ ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะมีบทบาทมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินประเทศ และจะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น

ความร่วมมือกับไบแนนซ์ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีบล็อกเชนของประเทศ ความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา และทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset Exchange และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 3-6 เดือน 1 หากชัดเจนในแผนธุรกิจดังกล่าวแล้ว จะเริ่มขอใบอนุญาตตามกระบวนการได้ แต่ขึ้นกับแนวทางการกำกับในไทย และความชัดเจนเรื่องภาษีว่า จะสนับสนุนเป้าหมายที่ต้องการเข้ามาผลักดันให้อุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในไทยเติบโตผ่านความแข็งแกร่งทั้ง 2 บริษัทได้มากน้อยแค่ไหน

ดาต้าเซ็นเตอร์ New S Curve 

ส่วนแผนการจัดตั้ง “ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์” (Data Center) ที่กัลฟ์คาดหวังเป็น “New S Curve” ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล ดิจิทัลแพลตฟอร์มมีบทบาทเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มโซเชียลมีเดีย ต้องการใช้ข้อมูลมาก จึงต้องมีการจัดเก็บข้อมูล

ขณะที่ องค์กรธุรกิจเริ่มทยอยปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินธุรกิจไม่ว่า จะเป็นเทคโนโลยี เอไอ บิ๊กดาต้า ซอฟต์แวร์ต่างๆ จึงเห็นชัดเจนว่า ความต้องข้อมูลเพิ่มขึ้น เติบโตมากกว่า 20% ใน 7 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เพราะเห็นถึงโอกาสเติบโตในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ จึงตัดสินใจเข้าลงทุนธุรกิจนี้ นอกจากจะช่วยสร้างการเติบโตระยะยาวให้กัลฟ์แล้วยังตอบโจทย์การซินเนอร์จี้ในการขายไฟฟ้าของกัลฟ์ด้วย ขณะที่ สิงเทลมีประสบการณ์และความชำนาญด้านเทคโนโลยีสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์อยู่แล้ว มีฐานลูกค้าที่ต้องใช้ฐานจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และหลากหลายทั่วโลก คาดว่าจะดึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเข้ามาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์นี้ได้ เช่นเดียวกับแอดวานซ์ฯ ที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ปัจจุบันมี 9 แห่งทั่วประเทศ

แผนตั้ง“ดาต้าเซ็นเตอร์"ชัดไตรมาส1  

ส่วนแผนจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2565 จะเห็นแผนชัดขึ้นทั้งสถานที่ตั้งและลูกค้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 2565 จากนั้น อาจใช้ระยะเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ 

โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง ศึกษาและหาสถานที่ตั้งให้เหมาะสม ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เพราะความต้องการลูกค้าแต่ละรายต่างกัน ทั้งจำเป็นต้องหาสถานที่ ที่โรงไฟฟ้ากัลฟ์จะจำหน่ายไฟฟ้าให้ดาต้าเซ็นเตอร์ได้เหมาะสม

ขณะเดียวกัน กัลฟ์ ได้ลงนามสัญญาโซลาร์รูฟท็อป และคาดว่าจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2565 ประมาณ 100 เมกะวัตต์ เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งโซลาร์รูฟท็อป ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง จึงต้องใช้โรงไฟฟ้าที่เป็นก๊าซไปก่อน แต่กัลฟ์ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และจ่ายไฟฟ้าให้ดาต้าเซ็นเตอร์ได้ อีกทั้งอนาคตหน่วยไฟที่ได้จากการผลิตโดยโซลาร์รูฟท็อปก็ขายให้ผู้ต้องการใช้หรือขายคาร์บอนเครดิตได้

ธุรกิจพลังงาน “กำไร” หลัก 

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า สัดส่วนธุรกิจของกัลฟ์ อนาคตยังเป็น “ธุรกิจไฟฟ้า” ซึ่งเห็นความสำคัญการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่งกัลฟ์ มุ่งลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว รวมถึงโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศและต่างประเทศ โดยปี 2564  มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มจาก 7,875 เมกะวัตต์ วางเป้าหมา่ยเป็น 9,422 เมกะวัตต์ในปี 2565

และปี 2568 จะมีโครงการใหม่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) กำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ทยอยรับรู้กำไรและรายได้ตั้งแต่ปี 2564 และในปี 2568 จะรับรู้กำไรและรายได้เต็มปีของกำลังผลิตทั้งหมด ส่งผลให้ปี 2568 บริษัทจะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเป็น 75% ขณะที่กำไรธุรกิจกลุ่มดิจิทัล จะมีสัดส่วนลดเหลือราว 20% และกำไรอีกสัดส่วน 5% จะมาจากโครงสร้างพื้นฐาน

ยุทธศาสตร์คิดใหญ่ ‘ซีพี’ ปักธงสู่ ‘เทค คอมพานี’    

"เครือเจริญโภคภัณฑ์” อาณาจักรที่คุมธุรกิจการค้า การเกษตร การลงทุน ค้าปลีก โทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย กำลังขยับตัวครั้งสำคัญ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจ ที่ไม่เดินตามแนวทางแบบเดิม แต่คือ การทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่ “เทค คอมพานี” ที่ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ หรือ ระดับภูมิภาค แต่คือระดับโลก 

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี แม่ทัพคุมบังเหียนอาณาจักรการค้าการลงทุนที่มีเม็ดเงินเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท มักย้ำถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ คือ การนำ “เทคโนโลยี” หรือ “ดิจิทัล” มาเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนองคาพยพทั้งองค์กร ต้องผสานเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ กับการบริหาร “ข้อมูล” และ “คน"

แหล่งข่าวระดับสูงที่ใกล้ชิดกลุ่มซีพี ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แนวความคิดของ “เจ้าสัวศุภชัย” ในการก้าวไปสู่ “เทค คอมพานี” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกกำหนดขึ้นนานแล้ว และได้หารือในเชิงลึกร่วมกับบอร์ด รวมถึงการประชุมวาระอื่นๆ อยู่เสมอ จนถูกบรรจุเป็นยุทธศาสตร์หลักของทั้งเครือฯ และกำชับว่า การก้าวไปสู่ “เทค คอมพานี” ต้องไปทั้งองคาพยพไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น 

กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม นำโดย “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ที่ชัดเจนว่าปลายทาง คือ “เทค คอมพานี” ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต หรือแค่บริการเพย์ทีวี ด้วยความพร้อมของคน เทคโนโลยี และการได้พันธมิตรอย่าง “เทเลนอร์” ยักษ์เทคฯ แห่งทวีปนอร์ดิก เปิดทางควบรวมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ตั้งบริษัท เทค คอมพานี ขึ้นมาลุยในน่านน้ำใหม่  

ไม่ว่าจะเป็น สเปซ เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ คลาวด์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์  ดิจิทัลมีเดีย เอไอ ดีลครั้งนี้จะหนุนให้ “ภาพจำ” ของความเป็น “เทค คอมพานี” ของกลุ่มซีพี ชัดเจนขึ้น

“แนวคิดของ ศุภชัย มองว่า ในอนาคต โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีใหม่ ผสานกับกรอบแนวคิดของคน และเอไอ กลายเป็น กรอบความคิด 5.0 (Mindset 5.0) นักเทคโนโลยีที่เข้าใจธุรกิจ และนักธุรกิจที่เข้าใจเทคโนโลยี” แหล่งข่าวกล่าว

ต้องเปลี่ยนเพื่อสู้กับเทคระดับโลก

ในวันประกาศ “บิ๊กดีล” ระหว่าง ซีพี และ เทเลนอร์ “เจ้าสัวศุภชัย” บอกชัดว่า หลายปีที่ผ่านมา แลนด์สเคปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น 

ปัจจัยเหล่านี้ กดดันให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกจาก พัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสาร และส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้ลูกค้า 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้แข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) ด้วยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน”

ดังนั้น การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยีคือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทยซีพี มุ่งมั่นช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทย และผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุด และธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในไทยได้อีกด้วย 

ลุย “น่านน้ำใหม่” เทคโนโลยีอวกาศ

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการธุรกิจ วิเคราะห์ว่า ดีลความร่วมมือระหว่าง ซีพี และเทเลนอร์คือ สัญญาณของ บิ๊กคอร์ป ระดับตัวท็อปของอุตสาหกรรม ที่ต่างต้องวิ่งหนีคลื่นดิสรัปลูกใหญ่ สั่นคลอนฉากทัศน์ธุรกิจแบบเดิม อาณาจักรซีพี ที่มีธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง ทรู เป็นหัวหอกรั้งเบอร์ 2 ของตลาด ไม่มองแค่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโอเปอเรเตอร์แบบเดิมๆ อีกแล้ว  

“โลกของการสื่อสารปัจจุบันวิ่งไปไกลกว่า ซิมมือถือ หรือคลื่นความถี่ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในเรื่องของใบอนุญาต หรือไลเซนส์ในการได้มาซึ่งคลื่นก็มีราคาที่สูงเกินไป ไม่ได้ดึงดูด หรือจูงใจให้ทำธุรกิจในแบบเดิมๆ” 

ขณะที่ หนึ่งในเป้าหมายที่ ซีพี ไปแน่คือ อินเทอร์เน็ตจากอวกาศ (ดาวเทียม) แหล่งข่าว ให้ข้อมูลว่า น่านน้ำใหม่ที่ซีพีร่วมกับพันธมิตร กำลังบุกอย่างจริงจังคือ ศึกษาการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ สมาร์ทโฟนต่อไป ไม่จำเป็นต้องใส่ซิมมือถือ หรืออาศัยคลื่นความถี่ 5จี หรือ 6จี ใช้เพียงสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม ก็สามารถโทรออกหรือติดต่อสื่อสารได้ทันที และยังต่อยอดไปสู่บริการอัจฉริยะอื่นๆ ที่ใช้แค่สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมเป็นหลัก

การคิดใหญ่ เพื่อผนวกกับบริษัทที่มีจุดแข็งเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลระดับอินเตอร์อย่าง “เทเลนอร์” จึงเป็นการหนีคลื่นดิสรัปครั้งสำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่กลุ่ม ‘ซีพี’ คิดมาแค่ชั่วข้ามคืน แต่ผ่านการกลั่นกรอง และ ‘ซุ่ม’ เตรียมยุทธศาสตร์มาแล้วระยะหนึ่ง รวมไปถึงอาณาจักรของธุรกิจซีพี ก็ต้องการกำลังหลักจากเทคโนโลยียุคใหม่เข้าไปเป็นกลไกสำคัญผลักดันการเติบโตในโลกอนาคต

Food Tech โลกของอาหารอนาคต

ขณะที่ กลุ่มเกษตร อาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ซีพีต้องการเป็นผู้นำในเรื่องของ Food Tech  ด้วยเช่นกัน เพราะธุรกิจนี้คือ ฐานรากสำคัญของทั้งกลุ่ม สเตปต่อไปคือ การผลิตโปรดักส์ที่เน้นใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น หากต้องเน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก  

“ศุภชัย” มักพูดถึงเรื่องอาหารในแบบ Plant-based อยู่เสมอ และมีสินค้าออกสู่ตลาดแล้วอย่างต่อเนื่อง Food Tech ของกลุ่มซีพี จะเกี่ยวข้องกับ Health Tech ไปในตัวด้วย การทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องมีองค์ประกอบอย่าง ดิจิทัลไลเซชั่น บิ๊กดาต้า เอไอ อนาไลติกส์ ศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้ จะต้องเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม และในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งซีพีเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว 

ครั้งหนึ่ง “ศุภชัย” เคยบอกว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่อนาคต จะไม่ใช่แค่ปรับกระบวนการทางธุรกิจ เข้าสู่การบริหารข้อมูลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (digitize and information base) เท่านั้น การปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การลงทุนฮาร์ดแวร์ แต่ต้องสร้างและพัฒนาศักยภาพของ “บุคลากร” ในองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

เหนือสิ่งอื่นใด คือ เรื่อง “คน” ต้องสร้างความสามารถใหม่ของคนที่มีอยู่ พร้อมกับต้องหาคนที่มีความสามารถและประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาช่วย และถ้าในประเทศไม่มี ก็ต้องดึงทาเลนต์ ระดับโลก ระดับภูมิภาคเข้ามาช่วย

ต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

แม่ทัพซีพี อธิบายว่า องค์กรที่ปรับตัวได้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงจะเป็น “ผู้นำ” แต่ถ้าจะอยู่ได้อย่าง “ยั่งยืน” ต้องไม่ใช่แค่ตอบสนองและปรับตัวได้เท่านั้น แต่จะต้องเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้พัฒนา และยกระดับการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เพราะธุรกิจของ ซีพี ต้องแข่งกับผู้เล่น ระดับโลก จึงต้องต่อสู้ด้วย “อินโนเวชั่น อาร์แอนด์ดี” และ “การสร้างทาเลนต์” ซีพี จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การลงทุนในสตาร์ทอัพ และการสร้างอีโคซิสเต็มแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โฟกัสใน 3 ด้าน คือ 1.ไบโอฟู้ด-ไบโอเมดิคอล 2.โรโบติก-เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 3.เทคโนโลยีคลาวด์

การลงทุนทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรในเครือต้องสร้าง เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เพราะจะเป็นนิวเอสเคิร์ฟให้กับทั้งเครือ ซึ่งถ้าตัวเองทำได้ดีพอ และเป็นโอเพ่นซิสเต็มมากพอ ก็สามารถขยับเป็นธุรกิจใหม่ในตัวเองได้ อย่างการเกษตรก็จะทำฟาร์มมิ่งออโตเมชั่น หรือโรโบติกก็ต้องทำมากขึ้น ในบางเรื่องที่มีความถนัดก็ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นได้

“ต่อไปเอไอจะสามารถคาดการณ์ไปถึงขั้น ถ้าไลฟ์สไตล์แบบนี้ จะรู้ว่าจะตายอายุเท่าไร” แม่ทัพเครือซีพี เคย กล่าวไว้ในครั้งหนึ่ง

นั่นคือ ทิศทางการเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” ซีพี ต้องเป็น “ผู้สร้าง” สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ขณะที่ความสำเร็จจากช่องทางแบบเดิม วิธีการเดิมๆ อาจไม่เพียงพอ....


พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์