ข้อมูลดาวเทียมพื้นที่อีอีซี ชี้ “แสงกลางคืน” สะท้อนค่าเศรษฐกิจ

ข้อมูลดาวเทียมพื้นที่อีอีซี  ชี้ “แสงกลางคืน” สะท้อนค่าเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ผุดดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 5 ปี ประเมินผลกระทบพื้นที่หลังมีการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุอีอีซีเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์สำคัญในการนำไปใช้เป็นโมเดลการพัฒนาอย่างสมดุลให้เติบโตพร้อมกัน 3 ด้าน เกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว

ปัจจุบัน ข้อมูลดาวเทียมได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในทุกพื้นที่บนโลกได้โดยสะดวกขึ้นซึ่งมีงานวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) เผยผลวิจัยในปี 2560 พบว่าจากการติดตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่โดยรอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถนำข้อมูลแสงไฟกลางคืน (Nighttime Light: NTL) จากการจับภาพของดาวเทียมที่โคจรผ่านผิวโลก มาใช้เป็นดัชนีหลักในการวิเคราะห์

โดยในปี 2563-2564 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ตีพิมพ์รายงานที่เน้นการศึกษาในกรณีของประเทศไทย และระบุว่าข้อมูล NTL ร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอื่นๆ สามารถนำมาใช้ในการติดตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาดังกล่าว จึงได้มีการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อนำข้อมูล NTL มาใช้เป็นดัชนีชี้วัดแสดงการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อวิเคราะห์กรณีตัวอย่างของพื้นที่ที่มีการขยายตัวของการลงทุนในอีอีซี

โดยความสว่างจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) รายได้ประชากร และอัตราความยากจน ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 80% โดยได้จัดแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนี้ 

1.การท่องเที่ยว บริเวณเมืองพัทยาและกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่แนวชายฝั่งจากริมทะเลถึงถนนมอเตอร์เวย์ 2.อุตสาหกรรม บริเวณ บ้านบึง - หนองใหญ่ - บ้านค่าย - ปลวกแดง - นิคมพัฒนา - วังจันทร์ อยู่ถัดเข้ามาข้างใน ซึ่งเป็นพื้นที่สีม่วงโซนอุตสาหกรรมตามการกำหนดผังเมืองใหม่ 

3.เกษตรกรรม ส่วนใหญ่กระจุกตัวในอำเภอที่ไกลจากชายฝั่งมากๆ เช่น อำเภอเขาชะเมา จ. ระยอง ทำสวนยาง ไร่สับปะรด และไร่มัน
จากการสำรวจพบว่า พื้นที่บริเวณ บ้านฉาง - อู่ตะเภา - มาบตาพุด - อำเภอเมืองระยองซึ่งมีแผนส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะและพื้นที่บริเวณ บ้านบึง - หนองใหญ่ - บ้านค่าย - ปลวกแดง - นิคมพัฒนา - วังจันทร์ ที่ได้รับส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยของการขยายตัวของ NTL ในช่วงปี 2561-2564 สูงกว่าค่าดังกล่าวในช่วงปี 2555-2560 กล่าวคือ 2 พื้นที่ข้างต้นของอีอีซีมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2561-2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของอีอีซี ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ พ.ร.บ. ในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน 

ในขณะที่ บริเวณเมืองท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้การเติบโตในบริเวณ เมืองพัทยา ในช่วงปี 2561-2564 มีอัตราเฉลี่ยลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงปี พ.ศ. 2555-2560 

“หากพลอตกราฟเแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มของแสงไฟกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ จะเห็นว่าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างชัดเจนมาก ทั้งในเมืองพัทยาและจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ”

นอกจากนี้ ยังพบว่าการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่บริเวณริมชายฝั่งเนื่องจากมีจุดขายหลักคือทะเล และความเจริญของนิคมอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดีอยู่ในพื้นที่สีม่วงตามผังเมืองใหม่โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่กลับพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมยังมีระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง เนื่องจากส่วนใหญ่ยังมีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และเมื่อลงไปเก็บข้อมูลรายได้ต่อหัวประชากรพบว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน

สำหรับข้อเสนอแนะแก้เกษตรเหลื่อมล้ำ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการเหลื่อมล้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปในเฟสแรก อาทิ โครงข่ายถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำลง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 5G ในพื้นที่ ให้มีการผลักดันการใช้ประโยชน์ในการทำ Precision Farming โดยใช้ IoT และเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบการเติบโตของพืชรายวันได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ด้วยการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ส่วนอุตสาหกรรมเห็นว่าควรปรับตามเทรนด์โลกซึ่งอีอีซีให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก จึงต้องรีบปรับตัวเพื่อเกาะขบวนอีวีตามเทรนด์โลก

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ปิโตรเคมีในไทยที่มีกำลังการผลิตสูง ต้องมีการต่อยอดการผลิตด้านวัสดุชีวภาพ และการใช้วัตถุดิบแปลรูปทางการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้แก่เกษตรกร อุตสาหกรรมโรโบติกส์ที่เข้ามาทดแทนแรงงานราคาแพงและสังคมผู้สูงอายุในไทย อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีทั้งท่าเรือและสนามบินตั้งอยู่ใกล้กัน

สำหรับข้อเสนอแนะแแนวทางการพัฒนาพื้นที่อีอีซีในระยะต่อไป  คือต้องคอยปรับทิศทางการลงทุนตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว รวมทั้ง การเลือกนำส่วนผสมความสำเร็จของ 5 พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ซึ่งส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และการผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนฮ่องกง และสิงคโปร์ พัฒนาด้านการบริการเป็นหลักเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด อาทิ การเงิน และโลจิสติกส์  

ข้อมูลดาวเทียมพื้นที่อีอีซี  ชี้ “แสงกลางคืน” สะท้อนค่าเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่อีอีซีมีความพิเศษตรงที่มี 3 กิจกรรมเศรษฐกิจเกิดขึ้นในพื้นที่เดียว ทำให้เป็นแซนด์บ็อกซ์ในการศึกษาการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่าง เกษตร-อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เพื่อเป็นโมเดลสำหรับพื้นที่อื่นต่อไป