ไขข้อสงสัย! อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเตรียมตัวเสียภาษีเท่าไร

ไขข้อสงสัย! อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเตรียมตัวเสียภาษีเท่าไร

กระแส "รถ EV" ที่กำลังมาแรง จนหลายคนกำลังชั่งใจว่า ซื้อรถคันต่อไป จะเลือกซื้อ "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือรถอีวีดีไหม​? โดยนอกจากเรื่องของราคาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาคิด นั่นก็คือ "ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า" ว่าจะต้องเสียเท่าไร จะคุ้มค่ากว่าใช้รถยนต์ปกติหรือไม่ ไปหาคำตอบพร้อมกัน

เมื่อประเทศไทยต้องประสบปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เรื้อรังมานาน ซึ่งสาเหตุอันดับต้นๆ ก็คือผลพวงที่มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ กระทั่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีมากจนเกินไป ก็ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลบิดเบี้ยวไม่เปลี่ยนผ่านร้อน ฝน หนาวเฉกเช่นเป็นมา

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มีการสนับสนุนให้นำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ตลอดจนในยุคที่ทุกคนต้องประหยัดด้วยแล้ว การหันมาใช้รถไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากโข

ทว่าอุปสรรคสำคัญ ณ ตอนนี้คือ ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูง รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องของสถานีชาร์จไฟ จึงอาจทำให้หลายคนลังเล นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ว่าจะต้องเสียเท่าไร จะคุ้มค่ากว่าใช้รถยนต์ปกติหรือไม่ ไปหาคำตอบพร้อมกัน

  • ลดภาษีนำเข้า ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลง

จากการที่หน่วยงานรัฐได้ให้การสนับสนุนคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ล่าสุดได้มีการเร่งศึกษารายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เนื่องจากภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน 

เช่น ประเทศจีนได้รับสิทธิความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ประเทศญี่ปุ่น เสียภาษีนำเข้า 20% ประเทศเกาหลีเสียภาษีนำเข้า 40% หรือบางประเทศในยุโรปยังเสียภาษีในอัตราสูงถึง 80% เพราะไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย  

สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดที่ประชุม ครม. ได้เคาะแพ็กเกจส่วนลดทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถจำแนกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ราคาไม่เกิน 2 ล้าน 

- ลดภาษีศุลกากร 40% อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีที่ต้องเสียภาษีนำเข้า 20% และ 40% ก็จะเสียภาษี 0%

- ลดภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือ 2% 

- ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล วงเงินสูงสุดที่ 150,000 บาท โดยพิจารณาตามขนาดของแบตเตอรี่ เช่น 

1) แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 70,000 บาท 

2) แบตเตอรี่มากกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท   

 2.กลุ่มรถไฟฟ้า (EV) ที่ราคามากกว่า 2 ล้านบาท

- ลดภาษีศุลกากร 40%

- ลดภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือ 2% 

ดังนั้น เมื่อรวมส่วนลดภาษีต่างๆ แล้ว สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้ส่วนลดประมาณ 500,000 บาท ส่วนรถไฟฟ้า (EV) ที่มีราคา 5-6 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยุโรป จะได้ส่วนลดอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนบาท   

  • รถยนต์ไฟฟ้า...คิดภาษีประจำปีตามน้ำหนักรถ

หลังจากที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้แล้ว เจ้าของรถยนต์ยังต้องมีหน้าที่เสียภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปีเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแบ่งอัตราภาษีสำหรับรถไฟฟ้าเป็น 2 ประเภท คือ

1.รถยนต์ไฟฟ้า 

สำหรับอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าเสียภาษีตามน้ำหนักของรถ ในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเดียวกับที่ใช้สำหรับรถกระบะ ดังนั้น จะถูกกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน แบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิง  

โดยมีรายละเอียดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าดังนี้

- น้ำหนักรถ 500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี บาท

- น้ำหนักรถ 501-750 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 300 บาท

- น้ำหนักรถ 751-1,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 450 บาท

- น้ำหนักรถ 1,001-1,250 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 800 บาท

- น้ำหนักรถ 1,251-1,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,000 บาท

- น้ำหนักรถ 1,501-1,750 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,300 บาท

- น้ำหนักรถ 1,751-2,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี1,600 บาท

- น้ำหนักรถ 2,001-2,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 1,900 บาท

- น้ำหนักรถ 2,501-3,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,200 บาท

- น้ำหนักรถ 3,001-3,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,400 บาท

- น้ำหนักรถ 3,501-4,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,600 บาท

- น้ำหนักรถ 4,001-4,500 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 2,800 บาท

- น้ำหนักรถ 4,501-5,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,000 บาท

- น้ำหนักรถ 5,001-6,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,200 บาท

- น้ำหนักรถ 6,001-7,000 กิโลกรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,400 บาท

- น้ำหนักรถ 7,001 กิโลกรัมขึ้นไป รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน เสียภาษี 3,600 บาท

2.รถไฟฟ้าประเภทอื่น 

รถไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อัตราการเก็บภาษีประจำปี ให้เก็บภาษีอัตรากึ่งหนึ่งของข้อกำหนดการจัดเก็บตามน้ำหนัก หรือจัดเก็บเป็นรายคัน โดยแบ่งตามประเภทดังนี้

- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท

- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท

- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถแทรกเตอร์เพื่อใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท

  • ใช้รถยนต์ไฟฟ้า...มีดีอย่างไร

ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ผู้คนเริ่มทยอยใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก ประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่แค่เพียงผู้ใช้เอง แต่ยังส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยสรุปประโยชน์ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ดังนี้

- รถไฟฟ้าสามารถช่วยลดมลพิษได้ เพราะไม่มีการเผาไหม้จากพลังงานเชื้อเพลิงภายใน จึงไม่มีไอเสีย หรือควันออกสู่สิ่งแวดล้อม 

- มอเตอร์ไฟฟ้าจะไม่ทำงานในขณะที่จอดรถ จอดติดสัญญาณไฟจราจร หรือขณะเกิดการจราจรติดขัด จึงช่วยลดมลพิษทางเสียง 

- รถไฟฟ้ามีเสียงการทำงานของมอเตอร์ ที่เงียบกว่าเสียงเครื่องยนต์ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จึงช่วยลดมลพิษทางเสียงได้ 

- การใช้รถไฟฟ้าจะสิ้นเปลืองน้อยกว่ารถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน 

- ประหยัดค่าซ่อมบำรุงที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่ารถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพราะรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ของรถยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนน้อยชิ้นกว่ารถยนต์ประเภทสันดาปภายใน 

- รถยนต์ไฟฟ้าช่วยลดปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของชาติ เนื่องจากสามารถช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 

สรุป

เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วทั้งในเรื่องประโยชน์ ความคุ้มค่า และภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องเสีย อยากให้อดใจรอกันอีกนิด เมื่อหลักเกณฑ์ต่างๆ ผ่าน ทุกอย่างลงตัว ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงจับต้องได้ ผู้คนเริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยของเราจะต้องฟื้นคืนสภาพแวดล้อมที่ดีกลับมาอย่างแน่นอน

-----------------------------------
Source : 
Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่