“วิษณุ” เผยนายกฯ เร่ง "บีโอไอ" ปรับโครงสร้างรับอนาคตเปลี่ยน

 “วิษณุ” เผยนายกฯ เร่ง "บีโอไอ" ปรับโครงสร้างรับอนาคตเปลี่ยน

นายกฯ เร่ง บีโอไอปรับโครงสร้าง ให้รีบเสนอเข้าบอร์ดหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่ม พร้อมเสนอต่อสภา “วิษณุ” มอบ ก.พ.ร.ประสานพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง “สุพัฒนพงษ์” ให้มีความชัดเจนทางนโยบาย เผยโครงสร้างใหม่หนุนสตาร์ทอัพ LTR และ Smart Visa

“อนาคต”จากนี้จะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและตัวเร่งใหม่อย่าง“โควิด-19” ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคตที่ว่านี้ “มาถึงเร็วขึ้น” ทำให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของภาครัฐต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และวางแผนรองรับอนาคต รวมถึงหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากหากการปรับโครงสร้างต้องมีการออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่รัฐบาลจะได้รีบเสนอให้สภาพิจารณา แต่หากไม่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนกฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนภายในหน่วยงาน เช่น การเพิ่ม ลด กองงานภายในก็จะได้เริ่มขั้นตอนในการประชุมต่างๆ ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของบีโอไอที่เพิ่มขึ้น

 “วิษณุ” เผยนายกฯ เร่ง "บีโอไอ" ปรับโครงสร้างรับอนาคตเปลี่ยน

วิษณุกล่าวว่า ในส่วนการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของบีโอไอนั้นได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานกลางเพื่อไปหารือกับทั้งบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน ก.พ.ร.ไปพูดคุยซึ่งรวมถึงหารือกับสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานที่กำกับดูแลหน่วยงานเพื่อให้ได้ความแน่ชัดจากทุกฝ่ายในเรื่องระดับนโยบายก่อนที่จะเสนอมาที่ตนเองให้พิจารณา

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตนเองเป็นคนรับผิดชอบจัดทำแนวทาง การปรับโครงสร้างของบีโอไอ เพื่อให้สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรม และบริการใหม่ๆ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภายในของบีโอไอ ได้ให้เหตุผลมาในเบื้องต้นว่าเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในด้านการดึงดูดการลงทุน ซึ่งแต่เดิมบีโอไอได้เสนอขอเพิ่มกำลังคนในหน่วยงานมาพอสมควร

เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ แต่ตนได้ให้ข้อสังเกตว่า การเพิ่มกำลังคนอย่างเดียวโดยไม่ปรับการบริหารงานภายในนั้นไม่เพียงพอ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเอากำลังคนที่เพิ่มให้ไปทำอะไรจึงเป็นที่มาของการที่บีโอไอต้องไปปรับโครงสร้างเสียก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องคนที่จะขอเพิ่มก่อนกันอีกครั้ง

“เริ่มต้นมาบีโอไอขอคนมาเยอะ แต่เราไม่ได้ให้จึงต้องมีการปรับโครงสร้างก่อน ทุกกระทรวง ทุกกรมเขาก็อยากที่จะเพิ่มคน แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ง่ายๆ เพราะต้องดูความสอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ อย่างกระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มบุคลากรมาตลอด แต่มาให้ก็ตอนที่มีสถานการณ์โควิด-19 ถึงจะให้เพราะเขาบอกว่าจะเอาคนไปทำอะไร”

สำหรับในเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์ใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการต่ออายุสิทธิประโยชน์เดิมออกไปในปี 2565 ก็เป็นหน้าที่ของบีโอไอที่ต้องไปปรับแล้วเสนอให้คณะกรรมการที่รับผิดชอบพิจารณาตามลำดับขั้นตอน ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้มีการทำมาเสนอให้พิจารณาอยู่ตลอดเช่นกันเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการหารือกันระหว่างบีโอไอ สำนักงาน ก.พ.ร. และนายสุพัฒนพงษ์ ในการปรับโครงสร้างของบีโอไอได้วางแนวคิดเบื้องต้นว่าการปรับโครงสร้างจะรองรับภารกิจใหม่ๆ ของบีโอไอที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

เช่น การสนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทอัพ และการรองรับการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มที่เข้ามาอาศัยในไทยในระยะยาวซึ่งได้รับสมาร์ทวีซ่า และวีซ่าประเภทการพำนักในไทยระยะยาว (LTR) ซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยในส่วนของ LTR รัฐบาลวางเป้าหมายว่าจะมีคนกลุ่มนี้เข้ามาประมาณ 1 ล้านคนในระยะเวลา 5 ปี

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์