CHAYO จับมือพันธมิตรโต ดันพอร์ตธุรกิจซื้อหนี้แตะ “แสนล้าน”

CHAYO จับมือพันธมิตรโต ดันพอร์ตธุรกิจซื้อหนี้แตะ “แสนล้าน”

"ชโย" ลุยจับมือแบงก์จัดตั้ง "เอเอ็มซี" แย้มกำลังเจรจา 3 ธนาคารใหญ่ คาดปิดดีลแรกไตรมาส 1 ปี 65 คาดพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพปีนี้แตะ “แสนล้าน” ถือเป็นพอร์ตสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง

พลันที !! ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ และ ธุรกิจบริหารหนี้เสีย (AMC) จับมือเป็นพันธมิตรร่วมทุน (JV) เพื่อแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หลังจากสถานการณ์ “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจาก “ลูกหนี้” ที่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ดังนั้น หากมาตรการของธปท. หมดลง...อาจจะมีโอกาสเห็นลูกหนี้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในระดับก้าวกระโดด 

“สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทวางแผนธุรกิจปี 2565 ตั้งเป้ามี “พอร์ตซื้อหนี้ด้อยคุณภาพบริหารคงค้าง” แตะระดับ “แสนล้านบาท” เป็นครั้งแรกและถือเป็นพอร์ตสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งมา  โดยปี 2564 คาดพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพบริหารคงค้างอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 75% และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันราว 25% 

สำหรับ ปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหาร 2,500-3,000 ล้านบาท จากปีก่อน 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 25% จากปีก่อน และตั้งเป้ารายได้ช่วง 3 ปี (2565-2567) เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20-25% ต่อปี 

และหนึ่งในปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้พอร์ตรวมซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเติบโตมาจาก “ธุรกิจซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ” สะท้อนผ่านแผนการลงทุนธุรกิจใน 3 ส่วน นั่นคือ 1.การลงทุนของบริษัท โดยการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารทั้งหนี้ที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นรายย่อย (รีเทล) และลูกค้า SME 

2.การร่วมทุน (JV) ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ “3 ธนาคารพาณิชย์ไทย” เพื่อร่วมทุนจัดตั้ง “บริษัทบริหารสินทรัพย์” (AMC) ในอนาคต โดยแบ่งเป็นแบงก์เอกชนจำนวน 2 รายใหญ่ และ แบงก์รัฐจำนวน 1 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1 รายภายในไตมาส 1 ปี 2565 หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเจรจากับแบงก์เอกชนจบไปแล้ว 1 ราย 

โดยกระบวกการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AMC ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพราะต้องศึกษาแนวทางการร่วมทุนในหลายรูปแบบ เงินลงทุนต้องมูลค่าระดับไหน ดังนั้น ระหว่างการศึกษาร่วมทุน (JV) ความร่วมมือเบื้องต้นระหว่างบริษัทกับแบงก์จะเป็นรูปแบบการลงนามสัญญาร่วมกัน (MOU) ในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพให้ก่อน โดยแบงก์แรกที่บริษัทมีความร่วมมือด้วยนั้น ได้ส่งหนี้ด้อยคุณภาพให้บริษัทดำเนินการแล้ว ในมูลค่าระดับ 100 ล้านบาท

“การร่วมทุนกับแบงก์ บริษัทจะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเฉพาะที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพของแบงก์ที่บริษัทร่วมทุน JV ด้วยเท่านั้น”

และ 3.บริษัท บริหารสินทรัพย์ชโย เจวี จำกัด (Chayo JV) โดย CHAYO ถือหุ้นใน Chayo JV คิดเป็นสัดส่วน 55% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยในปี 2565 “ชโย เจวี” ตั้งเป้าลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ มูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเท่านั้น (บ้าน , อาคารพาณิชย์ , ที่ดิน) เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรไม่ถนัดในธุรกิจซื้อหนี้ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น กลุ่มลูกค้าหลักๆ จะเป็นการซื้อหนี้ขององค์กร (บริษัท) โดย ชโย เจวี สามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 และสามารถสร้างรายได้ทันทีในไตรมาส 4 ปี 64

นอกจากความร่วมมือในธุรกิจ AMC แล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ กับพันธมิตร อย่าง บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอที ประเภทคอมพิวเตอร์แล็บท็อป คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต สินค้า IT โดยบริษัทมีการซื้อสินค้าไอทีของ COM7 เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความต้องการสินค้าดังกล่าว โดยบริษัทจะมีการคุยกับทางมหาวิทยาลัยก่อน โดยในปีนี้คาดว่าจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีก 30 แห่ง รวมทั้ง COM7 ให้บริษัทเป็นผู้ทำธุรกิจเร่งรัดหนี้สินให้อีกด้วย

CHAYO จับมือพันธมิตรโต ดันพอร์ตธุรกิจซื้อหนี้แตะ “แสนล้าน” ขณะที่ความร่วมมือ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD โดย JWD ให้บริษัทหาที่ดินเปล่าให้เพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อ บริษัท เบญจพรแลนด์ ผู้พัฒนาที่ดิน คลังสินค้า และ อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินทรัพย์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในราคาที่สามารถแข่งขันได้

ขณะที่ “ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ” ภายใต้ บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด ซึ่งปล่อยสินเชื่อทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน อย่าง สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) และ สินเชื่อเพอร์ซันนัลโลน และอื่น ๆ ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อแตะระดับ “1,000 ล้านบาท” เป็นครั้งแรกปโตถึง “5 เท่าตัว" จากปี2564 โดยมียอดปล่อยสินเชื่อ 350 ล้านบาท

ดังนั้น ในแผนธุรกิจของบริษัทเตรียมจะผลักดันธุรกิจปล่อยสินเชื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Mai) ในปี 2566 และคาดปีนี้หาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อเตรียมยื่นไฟลิ่งต่อไป 

สำหรับ “ธุรกิจติดตามและเร่งรัดหนี้” ปี 2564 คาดหดตัว 20% แต่ในปีนี้ตั้งเป้าจะกลับมาเติบโต 10% จากปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แบงก์ชาติมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยประชาชน แต่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายธุรกิจติดตามและเร่งรัดหนี้จะกลับสู่ภาวะปกติ 

ขณะที่ “ธุรกิจขายของออนไลน์” (Online) ภายใต้ บริษัท 555 ช้อปปิ้ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการขายสินค้าผ่าน Call Center หรือ TV Shopping หรือ ช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันบริษัทหยุดการลงทุนไปก่อน หลังต้นทุนการดำเนินธุรกิจยังสูง เนื่องจากบริษัทมีสินค้ายังไม่มาก แต่คาดหากมีโปรเจกที่ดีกับพันธมิตรก็พร้อมที่จะกลับมาดำเนินงานต่อ ซึ่งปัจจุบันกำลังคุยกับพันธมิตร อย่าง กลุ่มของเครือสหพัฒน์ ที่มีสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ Tellme มาจำหน่ายช่องทางออนไลน์ของบริษัทในอนาคตอีกด้วย 

ท้ายสุด “สุขสันต์” บอกไว้ว่า การมีหลากหลายพันธมิตรธุรกิจรวมกันนั้น ในแง่ของธุรกิจยังจะช่วยสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง อย่างมั่นคง และทำให้หุ้น CHAYO เป็นหุ้น Growth Stock พื้นฐานที่ดี รวมทั้งมีสตอรี่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และอนาคตสร้างการเติบโตโดดเด่นอีกด้วย