เมื่อรัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งพัฒนา Metaverse

เมื่อรัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งพัฒนา Metaverse

เมื่อจีนส่งสัญญาณเร่งพัฒนา Metaverse ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Tencent, NetEase, ByteDance Baidu และ Alibaba ต่างตอบรับ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาแอปฯ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับดูและของรัฐบาลจีน

ในช่วงที่ผ่านมา Metaverse หรือโลกเสมือนจริงที่ให้เราสามารถเข้าไปใช้ชีวิตได้ กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ทั่วโลกต่างพูดถึง บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ๆ ต่างพูดถึงและหันมาลงทุนเพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยี Metaverse ในอนาคต ไม่เพียงแต่บริษัทเทคโนโลยีจากฝั่งสหรัฐฯ เท่านั้น แต่บริษัทเทคโนโลยีจากจีนเอง ได้ส่งสัญญาณที่จะเริ่มเข้าลงทุนใน Metaverse ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการออกกฏระเบียบและดำเนินมาตรการกำกับดูแลกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดต่างคาดว่าการเข้าลงทุนใน Metaverse ของบริษัทเทคโนโลยีจีนยังเป็นเรื่องที่จะต้องจับตา และรัฐบาลจีนจะเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างไร

Morgan Stanley คาดมูลค่าตลาด Metaverse จีนสูงถึง $8 billion

นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley คาดการณ์ว่าตลาด Metaverse ในประเทศจีนมีแนวโน้มมีมูลค่าสูงถึง 52 ล้านล้านหยวน หรือ $8 billion โดยคาดว่าบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tencent, NetEase, ByteDance และ Alibaba จะเข้ามาเป็นผู้เล่นคนสำคัญในโลก Metaverse นอกจากนั้น นักวิเคราะห์จาก CloudTree กล่าวว่า Metaverse จะกลายมาเป็นอนาคตของ Social Network ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนจะต้องปรับตัวและหาช่องทางใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจและเชื่อมโยงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ยุคที่การใช้งาน Smartphone และอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์เป็นเรื่องที่จำเป็น

แต่ละบริษัทส่งสัญญาณว่าอย่างไรบ้าง

  • Tencent ในรายงานผลการดำเนินงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา CEO ของบริษัท Pony Ma กล่าวว่า Metaverse ถือเป็นโอกาสสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจ gaming ซึ่ง Tencent ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจ Gaming ของโลกทั้งเกมคอมพิวเตอร์และเกมโทรศัพท์ นอกจาก Tencent จะเป็นเจ้าของ WeChat หนึ่งในแพลตฟอร์ม Massaging ที่มีผู้ใช้งานกว่าหลายร้อยล้านคนนาย Pony Ma ได้กล่าวว่า Tencent มีทั้งเทคโนโลยีและ Know-how ในการศึกษาและพัฒนาระบบ Metaverse
  • ByteDance ในปี 2021 ByteDance ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Gaming โดยเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าซื้อ Pico บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับ Virtual Reality (VR) รวมถึงแอปพลิเคชัน TikTok หรือ Douyin ที่บริษัทเป็นเจ้าของ สะท้อนว่า ByteDance มีความพร้อมในพื้นฐานทั้ง Social Media, Gaming และการนำระบบ VR มาใช้งาน
  • Alibaba บริษัทได้ส่งสัญญาณถึงแผนการออกผลิตภัณฑ์ แว่นเสมือนจริง (Augmented Reality Glasses) สำหรับการประชุมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญสำหรับโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse ล่าสุด Alibaba ได้เปิดตัว Virtual Influencer ชื่อว่า Dong Dong สำหรับงานมหกรรมโอลิมปิคฤดูหนาว โดยผู้ใช้งาน Taobao แอปพลิเคชัน Online Shopping ของ Alibaba จะสามารถพบ Digital Avatar นี้ได้บนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิคฤดูหนาวรวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับงานโอลิมปิคในครั้งนี้
  • NetEase หนึ่งในบริษัทเกมชั้นนำของจีน ได้จัดตั้งพื้นที่ในมณฑลไห่หนานขึ้นเมื่อปี 2021 เพื่อเน้นการพัฒนาในส่วนของ Metaverse โดยเฉพาะ
  • Baidu เปิดตัวแอปพลิเคชัน XiRang ซึ่งเป็นแอปฯ Metaverse ที่ให้บริการโลกเสมือนจริง โดยสามารถเปิดรับผู้ใช้งานได้มากถึง 100,000 ราย อย่างไรก็ตามผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้กล่าวว่าแอปฯ ยังไม่สามารถใช้งานได้ดีอย่างที่คาดหวัง โดยคาดว่า จะใช้เวลากว่า 6 ปี ในการเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ

เห็นได้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเริ่มวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ทั้งระบบ AR/VR และการสร้างสังคม interactive ระหว่างกัน โดยเราอาจจะเห็นการนำระบบอื่นๆ นอกเหนือจากเกม ไม่ว่าจะเป็นระบบชำระค่าบริการ หรือระบบพูดคุยออนไลน์มาอยู่ใน Metaverse ได้เช่นกัน

การกำกับดูแล Metaverse ของรัฐบาลจีน

ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลจีนได้ออกกฏระเบียบและการกำกับดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย anti-monopoly กฎหมายการควบคุมและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และการจำกัดระยะเวลาในการเล่นเกมของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะถูกนำมาใช้กับ Metaverse เช่นเดียวกัน รวมถึงการออกกฎใหม่ๆ ที่จะนำมาควบคุมและดูแล Metaverse ด้วย โดยนักวิเคราะห์คาดว่าหนึ่งในกฎระเบียบที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงคือ การควบคุมเนื้อหาที่อาจเข้มงวดเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ Metaverse ของจีนต้องโดดเดี่ยวออกจาก Metaverse ทั่วโลก

ล่าสุด เดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่านกฏในการควบคุมผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตสำหรับการใช้ Algorithms แนะนำสินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Deep Synthesis เทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงเสียง รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวหรือภาพในโลกเสมือนจริง ดังนั้นการควบคุมดังกล่าวเชื่อว่า จะเป็นหนึ่งเกณฑ์สำคัญที่อาจสร้างผลกระทบต่อ Metaverse ของจีน

อย่างไรก็ดี จะได้เห็นการสนับสนุนจากรัฐบาล และการร่วมมือในภาคเอกชนเช่นกัน ในเดือนตุลาคม 2021 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ Metaverse โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเกณฑ์ และมาตรฐาน Metaverse ของจีน ภายใต้สมาคมการสื่อสารเคลื่อนที่ของรัฐบาลจีน (China Mobile Communications Association, CMCA) และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Huawei และ China Mobile ล่าสุดคณะกรรมการได้เพิ่ม 17 บริษัท เพื่อเข้าร่วมการพัฒนา Metaverse อาทิ บริษัท Inly Media และ Beijing Topnew Info&Tech ส่งผลให้มีบริษัทในกลุ่มแล้วทั้งสิ้น 112 บริษัท

นอกจากนั้น เมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ยังได้เพิ่มการพัฒนา Metaverse เข้าไปในแผนการพัฒนาเมืองและช่วยผลักดันบริษัทต่างๆ ในการพัฒนา Metaverse ในเมืองด้วยเช่นกัน ถึงแม้ Metaverse จะอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ทั้งการสร้างและการพัฒนา แต่เป็นที่แน่นอนว่าในอนาคต Metaverse จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เหมือน Smartphone หรืออินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในแต่ละวัน หลังบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างออกมาสนับสนุนและพัฒนาเพื่อผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระบบ Metaverse ให้ได้ ไม่เพียงแต่บริษัทเทคโนโลยีจากตะวันตกเท่านั้น แต่บริษัทเทคโนโลยีจากจีนเอง ยังได้ส่งสัญญาณพร้อมเป็นหนึ่งในผู้นำ Metaverse ไม่เพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ใช้งานจากทั่วโลก

ที่มา: CNBC, Financial Times, Bloomberg

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds