สศค.หวั่นเด็กเกิดใหม่น้อยผู้สูงวัยพุ่งกระทบภาระการคลัง

สศค.หวั่นเด็กเกิดใหม่น้อยผู้สูงวัยพุ่งกระทบภาระการคลัง

สศค.ระบุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากเหตุอัตราการเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ ผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปตลาดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อรองรับความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เด็กเกิดใหม่ลดลง ในขณะที่ ประชากรมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจาก เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้ามากกว่าในอดีต

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สังอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี หรือมากกว่าประมาณ 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ ในอีก 18 ปีข้างหน้านับจากปี 2564 (ปี 2583 หรือ 2040) ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะเพิ่มจาก 12.2 ล้านคนในปี 2564 เป็น 20.4 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จะลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรจะลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 0.6 คนต่อ 1 คน
ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 28.4 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2564 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583

นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2564 นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ประชากรเกิดใหม่ของไทยต่ำกว่า 6 แสนคน โดยอยู่ที่ประมาณ 5.4 แสนคน น้อยกว่า จำนวนประชากรที่เสียชีวิตซึ่งอยู่ที่ 5.6 แสนคน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หากจำนวนประชากรเกิดใหม่ยังไม่กลับมาเพิ่มสูงกว่าหรือเท่ากับจำนวนประชากรที่เสียชีวิต ขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นการเร่งให้โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น

ชี้ 4 ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

เขากล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน

ประการแรก ผลิตภาพรวมของประเทศ (Aggregate Productivity) จะลดลง จากจำนวนแรงงานและสัดส่วนคนทำงานที่ลดลง เนื่องจาก แรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น การลดลงของจำนวนแรงงานและสัดส่วนคนทำงานย่อม อาจทำให้ผลิตภาพรวมของประเทศไทยลดลงด้วยเช่นกัน และอาจส่งผลสืบเนื่องต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะเวลาต่อไป

นอกจากนี้ ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ หากประเทศไทยไม่มีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไป

ประการที่สอง อุปสงค์ภายในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจำนวนและสัดส่วนคนวัยชราเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้รูปแบบความต้องการสินค้าและบริการของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเปลี่ยนแปลงไป
โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาทิ สินค้าเพื่อสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ จะมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและการทำงานจะมีแนวโน้ม
เป็นที่ต้องการลดลง

อย่างไรก็ดี หากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพหรือมีฐานะยากจน ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่อาจจะชะลอลงในช่วงระยะเวลาต่อไปได้เช่นกัน

ประการที่สาม ภาระทางการคลังของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากประเทศจะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศจากแรงงานวัยทำงานได้น้อยลง ขณะเดียวกัน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและสวัสดิการคนชราที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขย่อมนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ประการที่สี่ การออมและการลงทุนในประเทศจะลดลง สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการออมและการลงทุนในประเทศ เนื่องจาก กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่เกษียณออกจากงานมักจะใช้จ่ายจากเงินออมที่ตนได้เก็บสะสมเอาไว้ในช่วงที่ทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพรวมการออมภายในประเทศลดลง
แนะปฏิรูปตลาดแรงงาน

สำหรับแนวทางการแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว มีข้อเสนอแนะ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การเร่งปฏิรูปตลาดแรงงาน เพื่อชดเชยสถานการณ์ที่จำนวนแรงงานมีแนวโน้ม
จะลดน้อยลงไป ทั้งในแง่ของการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและการเพิ่มการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานหญิงในตลาดแรงงานให้มากขึ้น เพื่อชดเชยปริมาณแรงงานที่หายไป

นอกจากนี้ การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชากรสูงวัยที่เกษียณไปแล้วยังคงทำงานต่อเนื่อง และการจูงใจให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกทางเลือกที่หน่วยงานภาครัฐอาจพิจารณาผลักดันให้เกิดขึ้นได้

เพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีบางประเภท

ประการที่สอง การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และการขยายฐานภาษีประเภทใหม่ๆ เพื่อรองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตรวจสอบและอุดรูดรั่วทางภาษีต่างๆ และการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ อาทิ ภาษีเงินได้ธุรกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นภาษีใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และภาษีสิ่งแวดล้อม ที่อาจจัดเก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจการเหมืองขุดเงินคริปโตเคอเรนซี่ เป็นต้น และอาจรวมถึง การพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีของการจัดเก็บภาษีบางประเภท อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดินและ
สิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างรายได้ภาษีที่เพียงพอจะชดเชยรายได้ภาษีส่วนที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

ประการที่สาม การสร้างระบบการออมและหลักประกันวัยเกษียณที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อแรงงานทุกประเภททั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ผ่านการสนับสนุนการออมระยะยาว โดยแรงงานควรมีการออมตามสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุการทำงาน เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มสามารถมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามที่ไม่ได้ทำงาน

ผลักดันเกิดการออมภาคบังคับ

ทั้งนี้ สำหรับกรณีของแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่และส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูงกว่าแรงงานนอกระบบ ประเทศไทยอาจจะกำหนดให้แรงงานดังกล่าวมีการออมแบบภาคบังคับ (Compulsory Savings) โดยจะหักเป็นร้อยละของรายได้แต่ละเดือนเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีที่เดือนนั้นมีรายได้ ขณะที่ หากในเดือนใดก็ตามที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แรงงานดังกล่าวก็จะไม่โดนหักรายได้เข้ากองทุนประกันสังคม

“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งสิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ โดยมีหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณต่อไป”