เอฟเฟคแวลลูสต็อกดันหุ้น KCE ขึ้นสุดลงสุด

เอฟเฟคแวลลูสต็อกดันหุ้น KCE ขึ้นสุดลงสุด

ระยะเวลาเดือนกว่าราคาหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรต่อเนื่องดันราคาหุ้นทำออลไทม์ไฮ กลับกลายเป็นหุ้นที่เจอแรงขายกระหน่ำจากกองทุนและสถาบัน จนเกิดความตื่นตระหนกรายย่อยขายตาม

วันนี้หุ้น KCE ยังเป็นหุ้นที่หลายคนให้ความสนใจด้วยพื้นฐานทางธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ปัญหาของ KCE ทำให้ราคาหุ้นสะดุดรอบใหญ่คือ การลดความคาดหวังธุรกิจจนกระทบมูลค่า หรือ Value ลดลงมาอยู่ในจุดเฝ้าระมัดระวังแทน

ย้อนไปปี 2563 หุ้น KCE  รวมไปถึงหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ - ชิ้นส่วนยานยนต์ที่อิงกับภาคการส่งออกกลายเป็นดาวเด่นในตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ดีจากค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างหนักหลังเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นไทย  การปิดประเทศตามมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เจอปัญหาชิปขาดแคลน  การขนส่งหยุดชะงัก ซึ่งเมื่อเริ่มคลายมาตรการความต้องการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นสูงทันทีดึงราคา และยอดขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากหุ้นใหญ่อย่าง บริษัท  เดลต้า  อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA   ที่อยู่ในกลุ่ม SET 50 และมีน้ำหนักต่อดัชนีค่อนข้างสูงแม้จะมีฟรีโฟลตน้อยทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีความเคลื่อนไหวเพิ่มสูงขึ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรมไปด้วย

ราคาหุ้น KCE ต้นปี 2563 อยู่ที่ 22 บาท ปิดท้ายปี 41.50 บาท  เพิ่มขึ้น 88.63%  ถัดมาในปี 2564 ราคาต้นปีอยู่ที่  57.25 บาท สิ้นปีปิดที่  88 บาท เพิ่มขึ้น  53.71% แต่ระหว่างปีทำราคาออลไทม์ไฮที่ 93 บาท  

เมื่อรวมปี 2563-2564 ผลตอบแทนจากราคาหุ้น KCE สูงถึง  112%  เปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันปรับตัวขึ้น  60 จุด เพิ่มขึ้น  3.88% เรียกได้ว่าหุ้น KCE เป็นหุ้นที่ Outperform market  หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

อย่างไรก็ตามธุรกิจและราคาหุ้นย่อมหนีไม่พ้นวัฏจักรทางธุรกิจที่จะมีช่วงฟื้นตัว ไปสู่การเติบโต และไปทำจุดสูงสุด สุดท้ายคือ ช่วงตกต่ำ เมื่ออิงกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงและต่อเนื่องคือ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ราคาหุ้นเปิดตลาดที่  88.50 สิ้นเดือนม.ค. อยู่ที่ 71.75 บาท และเดือนก.พ. มีการปรับตัวลงมากที่สุดราคาหุ้นต่ำสุดที่ เพราะหลุดระดับ 70 บาท 60 บาท และล่าสุด  59 บาท(14 ก.พ.65) เท่ากับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาลดลงมาแล้วเกือบ 30 บาทหรือ 33%

ธุรกิจของ KCE   เป็นบริษัทผลิตและส่งออก 100% ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์  หรือที่เรียกว่า PCB  ซึ่งถือได้ว่าติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มยานยนต์ 80% รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต  12.5%  และยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร   ซึ่งด้วยการแข่งขันที่สูงเพราะด้วยผู้เล่นในตลาดต่างชาติถึง 2,000 กว่ารายทำให้บริษัทหันไปขายสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาด้วยอานิสงส์จากตลาดยานยนต์ในยุโรป  ความต้องการอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และการขนส่งที่มีปัญหาจากการขาดแคลนตู้ขนเทนเนอร์ทำให้มีคำสั่งซื้อมาล่วงหน้าลากยาวไปจนถึงปลายปี 2564  ทำให้ KCE สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ตามความต้องการที่ล้น

นอกจากคาดการณ์กำไรปรับตัวขึ้นแล้วยัง มองครึ่งปีหลังมีการเพิ่มประมาณการกำไร 2564-2565  ขึ้นอีก 17% จากคำสั่งซื้อ KCE ยังเติบโตต่อเนื่องหลังเจอปัญหาขาดแคลนชิปทำให้ เกิดความกังวลชิ้นส่วนอื่นจะขาดแคลนไปด้วย   นอกจากนี้บริษัทยังมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาครึ่งปีหลัง 2564

ส่วนของกำไรฟื้นตัวแข็งแกร่งในช่วงโควิด ปี 2562 มีกำไร 934 ล้านบาท ปี 2563 มีกำไร  1,126 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไร 2,426 ล้านบาท  ท่ามกลางธุรกิจอื่นเจอปัญหาจากโควิดยอดขายลดลง กำไรหายวูบบางรายหนักถึงขั้นขาดทุน ดังนั้นหุ้น KCE จึงเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโต

ตลาดหุ้นกลับเทขายหุ้นนี้ออกมาอย่างหนักด้วยตัวเลขกำไรช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 700 กว่าล้านบาท แต่มีประเด็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงจนนำมาสู่กระแสข่าวบริษัทเผชิญปัญหาสายการผลิตที่โรงงานแห่งใหม่เขตลาดกระบังกระทบการส่งสินค้าล่าช้าและค้างสต็อก กระทบกำไรขั้นต้นลดลง อัตราของเสียเพิ่มขึ้น  

สิ่งที่ตามมาโบรกเกอร์ทยอยปรับประมาณการรายได้และกำไรใหม่หมดพร้อมเพียงกัน จากราคาเป้าหมายของหลายโบรกเกอร์ระดับทะลุร้อยบาทต่อหุ้นหั่นลงมาเหลือระดับ 90-80 บาทต่อหุ้น หลังคาดการณ์กำไรปี 2565 -2566 จะไม่ได้เติบโตร้อนแรงสุดขีด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น KCE  มาจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น  และเป็นปัจจัยใหม่ที่ไม่มีใครคาดการณ์  ส่วนการตัดสินใจถือลงทุนหรือเข้าซื้อเป็นการหาจังหวะถ้าผลตอบแทนสูงมากย่อมเจอการขาย เพื่อหาหุ้นอื่นลงทุน และเมื่อเจอแรงขายมากจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานเป็นเวลากลับมาสะสมเช่นกัน  

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์