"อาคม" ปัดตอบคำถาม คลังยอมลด "ภาษี" พยุงราคาน้ำมันหรือไม่

"อาคม" ปัดตอบคำถาม คลังยอมลด "ภาษี" พยุงราคาน้ำมันหรือไม่

"ขุนคลัง" ไม่ตอบคำถาม กระแสข่าวคลังยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน พร้อมคลอดแพคเกจช่วยพยุงราคาน้ำมันหรือไม่ ไล่ให้นักข่าวไปถามคนให้ข่าวเอง

รัฐบาลกำลังหาทางแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งนอกจากการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินเพื่อมาใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลพยายามดูแลราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ยังมีการดูแนวทางการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงเพื่อให้สามารถตรึงราคาไว้ที่ระดับราคาดังกล่าวได้ 

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะเสนอลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยข่าวได้เผยแพร่ออกไปเป็นจำนวนมากแล้วนั้น

สำหรับในเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เดินทางมาเข้าประชุมศูนย์บริหารโควิด-19  (ศบค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล 

เมื่อสอบถามในเรื่องดังกล่าวนายอาคมมีสีหน้าที่หงุดหงิด แล้วบอกว่าตนไม่ได้เป็นคนให้ข่าวให้ไปถามคนที่ให้ข่าวเอง 

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่ารัฐมนตรีคลังจะสามารถให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายอาคมไม่ตอบคำถามแต่บอกว่า

"ผมไม่พูดอะไร ให้ไปถามคนที่ให้ข่าว ข่าวไม่ได้มาจากผม เดี๋ยวจะเอาชื่อผมไปพาดหัวข่าว" 

จากนั้น รมว.คลังเดินไปขึ้นรถยนต์ที่จอดรออยู่ออกจากทำเนียบรัฐบาลไปทันที 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นข้อเสนอของหลายฝ่าย รวมทั้งสหพันธ์ฯ พร้อมด้วยสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก และเครือข่าย รวมถึงสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทยได้เสนอเป็นข้อเรียกร้อง

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในน้ำมัน 1 ลิตรนั้นจะมี “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” อยู่ 40-60% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็น “ค่าการตลาด” ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายและกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน 10-18%

“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” 5-10%

และ “ภาษีต่างๆ” 30-40% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง

โดยผู้ชุมนุมระบุว่าการจัดเก็บภาษีที่สูงในอัตรานี้ดูจะขัดแย้งกับหลักการในการจัดเก็บภาษีที่หากสินค้าใดเป็นสินค้าจำเป็น รัฐบาลจะต้องกำหนดอัตราภาษีในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน