“เอกชน” ห่วงการเมืองถึงทางตัน สภาล่มบ่อยฉุดประเทศเดินหน้า

“เอกชน” ห่วงการเมืองถึงทางตัน สภาล่มบ่อยฉุดประเทศเดินหน้า

สภาล่มครั้งที่ 17 “หอการค้า“ ชี้เป็นอุปสรรคออกกฎหมายสำคัญ แนะเร่งจัดลำดับความสำคัญกฎหมายที่จะพิจารณา ”เฟทโก้” ชี้ประเทศเดินหน้าต่อลำบาก นักลงทุนคาดปีนี้ยุบสภา “ธุรกิจท่องเที่ยว” แนะรัฐบาลก้าวข้ามความขัดแย้งการเมือง

สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ ภายหลัง “7 รัฐมนตรี” ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) บอยคอตการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาวาระขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จนที่ประชุมครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ต้องถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันจะนำวาระดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง จนต้องจับตาท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ว่าจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่

ขณะเดียวกันความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นำ 20 ส.ส.ขับตัวเองออกไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ยังเคลียร์กันไม่จบ ส่งผลจำนวน ส.ส. ขั้วรัฐบาล มีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการโหวตกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การประชุมสภาฯล่มมาแล้ว 17 ครั้ง รวมถึงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งขั้วฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอกภายหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งเสียงโหวตขั้วรัฐบาลอาจจะมีปัญหา

เหล่านี้คือปัจจัยที่อาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจทางการเมือง โดยมีเพียง 3 ทางเท่านั้น 1.ยื้อสถานะรัฐบาลไปจนกว่าจะถึงไทม์มิ่งที่ตัวเองวางเอาไว้ 2.ยุบสภาในเร็วๆนี้ และ 3.ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เอกชนห่วงสภาล่มบ่อย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้สถานการณ์การเมืองมีความขัดแย้ง แต่เชื่อว่าภาพรวมการเดินหน้าประเทศยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบให้ภาครัฐต้องดำเนินการอยู่แล้วจึงยังไม่มีความกังวลในเรื่องนี้มากเท่าไหร่

“แต่การที่สภาล่มบ่อยครั้งนั้นภาคเอกชนเห็นว่าก็มีผลกระทบ และเป็นอุปสรรคต่อการออกกฎหมายอยู่บ้าง โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่จำเป็นและสำคัญในช่วงนี้ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายที่มีความจำเป็นเพื่อให้สภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ” นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเห็นถึงความจำเป็นและเห็นด้วยที่รัฐบาลจะขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% และคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพื่อนำงบประมาณมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้

คาดยังไม่กระทบเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและการยุบสภามองเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่คนจะติดตามว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และดูความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ 

“สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ การชุมนุมประท้วงนอกสภา ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้นก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่า” นายธนวรรธน์ กล่าว

สภาล่มฉุดประเทศเดินหน้าต่อ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า กรณีที่การประชุมสภาล่มต่อเนื่องในช่วงนี้ ตลาดทุนไม่ได้มีความกังวลอะไร เพราะกฎหมายที่จำเป็นเรื่องกฎหมายลูกการเลือกตั้ง แต่ประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยลบของประเทศไทยที่มีรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพทำให้เดินหน้าต่อไปได้ยาก และพัฒนาการระยะยาวทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองนั้นขณะนี้แก้อยาก โดยหากจะแก้ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง

ส่วนประเด็นทางการเมืองในขณะนี้มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาล และมีความไม่แน่นอนสูงว่า จะยุบสภาไหมและจะยุบเมื่อไร

นักลงทุนคาดยุบสภาปีนี้

ทั้งนี้ปัจจัยนั้นตลาดหุ้นไม่ได้มีความกังวล ตราบใดที่ไม่เกิดความรุนแรงที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่น เพราะตลาดทุนคุ้นชินกับปัจจัยทางการเมืองไทย และคาดว่าในปีนี้จะยุบสภามีการเลือกตั้ง ซึ่งนักลงทุนมองข้ามเรื่องปัจจัยของการเมือง โดยในปีนี้นักลงทุนให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่าปัจจัยทางการเมือง

”ประเด็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพนั้น ตลาดทุนไม่ได้มีความกังวลและมองข้ามปัจจัยดังกล่าว ซึ่งในปีนี้นักลงทุนให้ความสำคัญเรื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การคุมการแพร่ระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวมากกว่า”

อย่างไรก็ตามหากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อยากให้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ดี เช่น เศรษฐกิจฟื้นตัว การคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และนักท่องเที่ยวกับมาก โดยหากย้อนไปในอดีตเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วตลาดหุ้นจะตอบรับที่ดี เพราะในช่วงหาเสี่ยงจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด และจะมีนโยบายในการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยของไทย