ยกระดับแรงงานดิจิทัลขั้นสูง ตอบโจทย์เอกชน EEC

ยกระดับแรงงานดิจิทัลขั้นสูง  ตอบโจทย์เอกชน EEC

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลคือ การพัฒนากำลังคน และบุคลากรดิจิทัลของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งยกระดับ ‘คนดิจิทัล’ โดยเฉพาะใน EEC

เร่งยกระดับ ‘คนดิจิทัล’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อลดการพึ่งพาบุคลากรต่างชาติ และไม่เป็นภาระของประเทศในระยะยาว

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) คำนึงถึงความสำคัญของการยกระดับ/ปรับทักษะ (Upskill & Reskill) ด้านดิจิทัลให้กับแรงงาน ควบคู่ไปกับการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ผ่าน สถาบันพัฒนาศักยภาพด้าน DIGITAL เพื่อ EEC หรือ Digital Economy Thailand (DAT) โดยความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี

เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกำลังคนดิจิทัล ก่อนป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะทางระยะสั้น เพื่อยกระดับแรงงานดิจิทัลขั้นสูง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Science นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบคลาวด์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่บนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Innovation Infrastructure) เพื่อให้บริการภาคเอกชนในพื้นที่

ทั้งนี้ depa และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคนดิจิทัลที่มีคุณภาพ ผ่านหลักการ ‘ลดความซ้ำซ้อน สร้างเสริมศักยภาพ รวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลอย่างตรงจุด’

ลดความซ้ำซ้อนคือ การที่ depa จะไม่ใช้หลักการในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเอง แต่จะทำหน้าที่เสริมสร้าง เติมเต็มศักยภาพแก่ DAT ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการยกระดับศักยภาพแรงงานดิจิทัลใน EEC โดยตรง ให้มีจุดแข็งในการพัฒนาคน เป็นศูนย์กลางของการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่สถาบัน พัฒนาขึ้นอย่างตรงจุด โดยทีมวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชนใน EEC และพื้นที่ข้างเคียง รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ ของประเทศในอนาคต

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี (มี.ค. 2562 - ธ.ค. 2564) DAT สามารถพัฒนาศักยภาพแรงงานดิจิทัลขั้นสูงแล้วกว่า 1,600 คน ผ่าน 42 หลักสูตร อาทิ Practical Data Science, Advanced Data Science and Machine Learning, IoT Fundamental, Advanced IoT, AI using Pythons ฯลฯ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดองค์ความรู้ใหม่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ DAT ยังมีการสร้างแพลตฟอร์มให้บริการแบบเปิด (Open Platform) ด้าน AI และ Data Science สำหรับหน่วยงานรัฐและเอกชน ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 สร้างพันธมิตรภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรภาค SMEs เพื่อต่อยอด ขยายธุรกิจ พัฒนาการจัดการในยุคดิจิทัล มีห้องฝึกอบรมและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ครบครันด้วยอุปกรณ์การอบรม รวมถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบคลาวด์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่บนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงอุปกรณ์เครือข่ายเพื่อการเชื่อมต่อ

ปัจจุบัน หลักสูตรฝึกอบรมจาก DAT ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพแรงงานต่อเนื่องกว่า 500 ราย/ปี โดยหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลขั้นสูง ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับ EEC อีกทั้งเป็นส่วนช่วยในการขยายผลความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัว และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมจาก DAT ประจำปี 2565 จะเปิดรับสมัครผู้สนใจเร็วๆ นี้ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

เพจเฟซบุ๊ก Digital Academy Thailand

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์