ศจพ.สั่ง "สศช." ทำเมนูแก้จน 5 ด้าน หวังแก้จนอย่างยั่งยืน 

ศจพ.สั่ง "สศช." ทำเมนูแก้จน 5 ด้าน หวังแก้จนอย่างยั่งยืน 

คกก.การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน มอบสภาพัฒน์เร่งจัดทำเมนูแก้ปัญหาความยากจน 5 ด้าน ครอบคลุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสร้างทักษะที่จำเป็น แก้ปัญหาความเป็นอยู่ประชาชน ขีดเส้นเร่งแก้จนในระดับอำเภอให้แล้วเสร็จภายใย ก.ย.ปี65

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (9 ก.พ.) ว่าที่ประชุมฯได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai PeopleMapand Analytics Platform) หรือ “TPMAP”นำมาวิเคราะห์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถกำหนดแนวทางและนโยบายในการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้อง ตรงเป้าหมาย ในพื้นที่ต่างๆได้อย่างถูกต้อง

“ในส่วนของการแก้ไขปัญหาความยากจน สภาพัฒน์จะใช้เส้นยากจนเป็นตัวชี้วัดหลัก ไม่ได้ใช้ตัวเลขจากผู้รับบัตรสวัสดิการ เป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนคือให้คนมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเส้นยากจน โดยข้อมูลที่ใช้จาก TPMAP จะต้องมีการปรับปรุงฐานข้อมูลนี้ให้ทันสมัย เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานในการวางแผนแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้อง” นายดนุชา กล่าว

ที่ประชุมฯได้มอบหมาย สศช.จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย (เมนูแก้จน) ตามมิติความขัดสน 5 มิติความขัดสน ประกอบด้วย 1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2.การศึกษา และทักษะที่จำเป็น 3. สถานะทางสุขภาพ 4.คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ 5.การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม

โดยมอบหมายให้ สศช.ดำเนินการจัดทำแนว เมนูแก้จนให้ครอบคลุมมิติและระดับขั้นของการพัฒนา และดำเนินการเผยแพร่ต่อไป รวมทั้งมอบหมาย ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ นำแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย มาดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้า โดยต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับภูมิสังคมของการพัฒนาในพื้นที่ด้วย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานและการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายทีมพี่เลี้ยงนำข้อมูลบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมาย จากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน และเป็นผู้ติดตาม/ดูแลครัวเรือนเป้าหมายอย่างใกล้ชิด

พร้อมทั้งบันทึกผลการดำเนินงานลงในระบบ Logbook ทุกครั้งที่มีการให้ความช่วยเหลือของกระทรวง หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวง กรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายตามที่ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ชี้เป้า โดยให้นำแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP (เมนูแก้จน) ให้กระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหา หากสภาพปัญหา แตกต่างจากแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP หรือเมนูแก้จน ให้ดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขรายครัวเรือน โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565

นอกจากนั้นที่ประชุม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานลด ละ เลิกการทำงานแบบต่างคนต่างทำ และให้ความสำคัญกับการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้ ศจพ. ระดับต่าง ๆ ทีมปฏิบัติการฯ และทีมพี่เลี้ยงนำเข้าข้อมูลในระบบ TPMAP ทุกครั้งที่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้อง รวมทั้งให้หน่วยงาน ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวทางนี้ ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญและคำนึงถึงต้นทุนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีการทำงานเป็นทีม ถ่ายระดับจากระดับนโยบายลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยหน่วยงานจะต้องยึดตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 การมองเป้าหมายร่วมกัน แนวทางที่ 2 การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าที่ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อย และการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แนวทางที่ 3 การจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอโครงการฯ และแนวทางที่ 4 การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จอยู่ในระดับที่น่าพอใจภายในปี 2565 โดยแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบให้เกิดความเข้มแข็งตั้งแต่วันนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาของประชาชนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายแต่ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีกำลังใจต่อสู้ ในการเอาชนะเพื่อประเทศและประชาชน โดยกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จทุกมิติให้มากที่สุดภายในปี 2565 เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสานต่อดำเนินการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง