ขานรับ ’ปลดล็อก’ กัญชา ต่อยอดพืชเศรษฐกิจ

เกษตรกรเฮ​ หลังเจ้ากระทรวงสาธารณสุข​ลงนามปลดล็อคกัญชาพ้นยาเสพติด เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากัญชาได้ ร่วมพูดคุยกับ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยยินดีแทนคนไทยทั้งประเทศ หลังจาก“อนุทิน”ลงนามปลดล็อคกัญชาพ้นยาเสพติด เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากัญชาได้ แม้จะไม่เสด็จน้ำจากการมองต่างมุมของฝ่ายการเมือง-ความมั่นคง วอนให้ทุกฝ่ายยึดกฎหมายเป็นหลัก ยืนยันการสูดดมกัญชาเป็นหนึ่งในศาตร์แพทย์แผนไทย จี้รัฐบาลเร่งศึกษาตั้งพื้นที่นำร่องแซนด์บ็อกซ์-หนุนแปรรูปเชิงพาณิชย์ 


      เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อคกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดให็โทษประเภทที่ 5 (ยส.5) ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด จะมีการควบคุม ทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น    โดยจะมีผลบังคับใช้อีก 120 วัน หลังจากมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา  เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชารักษาสุขภาพของตนเอง และการต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ภายใต้ พ.ร.บ.กัญชากัญชง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีแทนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้จะได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่โดยภาพรวมยังมองว่า แม้ว่าจะมีการปลดล็อคก็จริง แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกัน ระหว่างฝ่ายการเมืองที่มองว่าควรผ่อนผัน ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังมองว่า เกี่่ยวข้องกับยาเสพติด หลังจากนี้ อยากขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจากกฎหมายเป็นหลัก และต้องดูเจตนารมณ์ในการใช้ประโยชน์จากกัญชาด้วย ทั้งในทางการแพทย์ และการต่อยอดในเชิงพาณิชย์  ซึ่งในส่วนของสภาเกษตรกรแห่งชาตินั้น ยังยืนยันว่า การสูดดมกัญชา เป็นแขนงหนึ่งในการรักษาของแพทย์แผนไทย ที่ช่วยรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้ ลมชัก และไซนัสได้ ซึ่งต่อไปรัฐบาลจะต้องเร่งศึกษาการนำร่องพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย 
       นอกจากนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจา 120 วันแล้ว ประชาชนสามารถปลูกในครัวเรือนได้ เกิน 6 ต้นก็ได้แต่ต้องไปจดแจ้งให้เรียบร้อยนั้น มีโอกาสที่วัตถุดิบจะเพิ่มมากขึ้้น ซึ่งต่อไปจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปกัญชาในรูปแบบของเครื่องดื่ม และอาหารให้ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องด้วย เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้มีผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 10,000 รายรอที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์กัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้ดีมานท์กับซัพพลายไปด้วยกันได้ และนั่นหมายถึงว่า เป้าหมายที่จะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจจากกัญชาจะเกิดประโยชน์สูงสุด