ออมสินเดินหน้าแก้หนี้ยั่งยืน2.3แสนล้าน

ออมสินเดินหน้าแก้หนี้ยั่งยืน2.3แสนล้าน

ออมสินเดินหน้าแก้หนี้ยั่งยืน 4.1 แสนบัญชี มูลหนี้ 2.3 แสนล้าน พร้อมทยอยตั้งสำรองรองรับ 5 หมื่นล้านใน 5 ปี หลังพบมีลูกหนี้กลุ่มสีแดงสูงถึง 1.25 แสนบัญชี มูลหนี้ 5 หมื่นล้าน ล่าสุดสำรองส่วนเกินไว้แล้ว 3.6 หมื่นล้าน ขณะที่ เตรียมเสนอบอร์ดปล่อยกู้สหกรณ์ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครู

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ในปีนี้ ธนาคารจะเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขหนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนับจากสิ้นสุดโครงการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2564 แล้ว ขณะนี้ มีลูกหนี้ขอเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนจำนวน 4.1 แสนบัญชี มูลหนี้ 2.3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มีลูกหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่น่ากังวลและต้องติดตามเป็นพิเศษจำนวน 1.25 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2564  มีลูกหนี้ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารจำนวน 8.7 แสนราย มูลหนี้ 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ไม่มีปัญหาหนี้เสีย แต่มีปัญหาที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2564 มีลูกหนี้ที่ไม่ต้องดำเนินการช่วยเหลือแล้วประมาณ 6 แสนบัญชี และ ในจำนวนนี้ ได้ขอเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนจำนวน 4.1 แสนบัญชีดังกล่าว

“ขณะนี้ เราพบว่า มีลูกหนี้ที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ หรือ จัดอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือ เริ่มค้างชำระอยู่ 1.25 แสนบัญชี มูลหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ เราต้องตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับ ปัจจุบัน เราได้สำรองไว้รองรับแล้วทั้งหมด 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เราจะต้องทยอยสำรองส่วนเกินให้ได้ในวงเงิน 5 หมื่นบ้านบาทตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งจะทยอยให้ครบภายใน 5 ปี แต่หากลูกหนี้ชำระหนี้ดีขึ้น สำรองส่วนเกินก็จะน้อยลง”

สำหรับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนนั้น จะเน้นไปที่การลดภาระการชำระหนี้ โดยลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน สำหรับสินเชื่อรายย่อยไม่จำกัดวงเงินและสินเชื่อSMEsไม่เกิน 250 ล้านบาท จะผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ กรณีอัตราดอกเบี้ยแบบ Effective Rate กำหนดให้ชำระเงินต้นได้ 0% ในปี 2565 ส่วนอัตราดอกเบี้ยกำหนดชำระที่ 25-100% ส่วนปี 2566 กำหนดให้ชำระเงินต้นได้ 50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องชำระ 100% กรณีอัตราดอกเบี้ยแบบ Flat Rate กำหนดให้ชำระเงินงวดได้ 50-75% ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน

กรณีลูกหนี้ค้างชำระหรือหนี้เสีย สำหรับสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อSMEsไม่เกิน 20 ล้านบาท ธนาคารจะใช้แนวทางลดดอกอเบี้ยและลดภาระการชำระหนี้ โดยกำหนดให้ชำระเงินต้น 100% แต่ลดดอกเบี้ยค้างให้สูงสุด 100% และ ธนาคารจะยกเว้นค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยส่วนที่เหลือและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้

กรณีแก้ไขหนี้กรณีจำหน่ายหนี้สูญ(Write Off) สำหรับสินเชื่อทั่วไป(ไม่รวมธุรกิจบัตรเครดิต)เงินต้นคงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเน้นลดภาระการชำระหนี้ โดยกำหนดลดเงินต้นสูงสุด 30% และ ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด

ทั้งนี้ กรณีหนี้เสียที่เกิดก่อน 30 มิ.ย.2564 ธนาคารจะไม่ดำเนินการฟ้องร้อง และแม้จะมีกรณีที่เกิดการฟ้องร้อง ธนาคารจะไม่ยึดทรัพย์ และ ถ้าผ่านกระบวนการยึดทรัพย์ ธนาคารก็จะไม่นำทรัพย์ไปขายทอดตลาด โดยลูกหนี้กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 6.8 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.3 พันล้านบาท

เขายังกล่าวถึงการแก้ไขหนี้สินของกลุ่มข้าราชการครูด้วยว่า หลังจากธนาคารได้เข้าไปช่วยรีไฟแนนซ์ หรือ รวมหนี้ครู จากที่อื่นมาไว้ที่ธนาคารเพียงที่เดียว เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่สูง ล่าสุดพอร์ตหนี้ครูที่อยู่กับธนาคารมีจำนวน 3.9 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 3.3 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยไม่ถึง  1 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ ในจำนวนนี้ มี 2.9 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 2.3 แสนล้านบาท ที่เป็นลูกหนี้มีประวัติชำระหนี้ดี ซึ่งจะได้รับการลดดอกเบี้ยลง 0.1% - 1% ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระประมาณ 1 แสนบัญชี จะเข้าสู่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และจะได้รับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน

เขากล่าวด้วยว่า หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างยั่งยืน คือ ต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ยอดหนี้ลดลง ซึ่งหากจะนำเฉพาะเงินเดือนของครูมาแก้ไขหนี้เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำได้ แต่จะต้องนำเงินส่วนอื่นมาแก้ เช่น เงินจากบำเหน็จตกทอดที่จะได้ตอนเสียชีวิต ซึ่งอยู่ในกองทุนกบข.โดยสมาชิกสามารถกู้เงินจากกบข.มาชำระหนี้ได้

อีกแนวทางหนึ่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการครูจะต้องช่วยปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่สมาชิกครู เพื่อให้สามารถนำไปชำระหนี้อื่นๆได้ โดยธนาคารพร้อมที่จะปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2%แก่สหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์นำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 4% ให้แก่สมาชิกอีกทอดหนึ่ง

“ธนาคารอยู่ระหว่างผลักดัน มาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการครู เพื่อลดภาระหนี้ของครู ที่ต้องไปกู้หนี้จากที่อื่น เช่น ลิสซิ่ง ดอกเบี้ย 20% หรือ สินเชื่อบัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ย 7%-8% ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการแก้หนี้ข้าราชการครูดังกล่าว จะมีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง”