"อิมแพ็ค" ท้าชนศูนย์ฯสิริกิติ์! ต่อจิ๊กซอว์ปั้นศูนย์ประชุมใหม่ปี67

"อิมแพ็ค" ท้าชนศูนย์ฯสิริกิติ์!  ต่อจิ๊กซอว์ปั้นศูนย์ประชุมใหม่ปี67

ก่อนคลื่นยักษ์โควิด-19 จะโหมกระหน่ำ เดิมอาณาจักร “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยขนาดพื้นที่ในร่มสำหรับจัดงานรวมมากกว่า 1.4 แสนตารางเมตรจาก 5 อาคารหลัก มีแผนต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่!

นั่นคือการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือ “มิกซ์ยูส” เพิ่มเติมบนที่ดินริมทะเลสาบเมืองทองฯ รอพัฒนา 300 ไร่ จากที่ดินทั้งหมดกว่า 4,000 ไร่ของเมืองทองธานี รองรับส่วนต่อขยายจากแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 2.8 กิโลเมตรจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีสถานีส่วนต่อขยาย 2 สถานี มาที่อาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์และริมทะเลสาบเมืองทองฯ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับ “บีทีเอสกรุ๊ป” 

หากแต่จำเป็นต้องชะลอการลงทุนโครงการมิกซ์ยูสไปก่อน จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดแห่งศตวรรษจะคลี่คลาย!!

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า เดิมอิมแพ็คฯ มีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสใหม่ ไฮไลต์คือ “ศูนย์แสดงสินค้าอาคารใหม่” ความสูง 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 2 แสนตารางเมตร บนที่ดินริมทะเลสาบเมืองทองฯ มูลค่าลงทุนราว 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของค้าปลีก อาคารสำนักงาน และโรงแรม แต่พอเจอวิกฤติโควิดจึงจำเป็นต้องชะลอการลงทุน จนกว่าสถานการณ์ของธุรกิจไมซ์ (MICE: การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) จะกลับมาเข้ารูปเข้ารอย!

“ตอนนี้บริษัทฯ มีเงินสดหลายพันล้านบาทสำหรับลงทุนมิกซ์ยูสใหม่ แต่ขอรอดูจังหวะที่เหมาะสม รอความพร้อมของตลาด เราไม่อยากสร้างล่วงหน้า เมื่อวิกฤติโควิดจบลง ดีมานด์ตลาดไมซ์ฟื้นตัว ค่อยเริ่มก่อสร้างในช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาดีกว่า โดยหลังกลางปีนี้จะกลับมาพิจารณาสถานการณ์และทิศทางตลาดอีกครั้ง เป็นไปได้ว่าปลายปี 2565 จะเริ่มงานก่อสร้างศูนย์แสดงสินค้าอาคารใหม่ได้ เพื่อให้แล้วเสร็จทันกำหนดเปิดให้บริการของสถานีส่วนต่อขยายเข้าอิมแพ็คฯ ในปี 2567”

ด้านภาพรวมของสถานการณ์ธุรกิจ พอลล์ ฉายภาพว่า ช่วง 18 เดือนที่อิมแพ็คฯ ได้รับผลกระทบเต็มๆ บาดเจ็บจากโควิด ส่งผลให้ปี 2563-2564 ขาดทุนราว 800 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท และทำให้ปี 2564 เป็นปีที่ตกต่ำที่สุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา 23 ปี! เพราะมีจำนวนเดือนที่เปิดดำเนินการน้อยมาก จากการระบาดระลอก 3-4 ทำให้มีรายได้ตลอดปีที่แล้ว 400 ล้านบาท จากงานไมซ์ 157 งาน และงานจัดเลี้ยงนอกสถานที่ (Outside Catering) 139 งาน รวม 296 งาน ต่างจากปี 2563 ซึ่งดีกว่า เพราะเริ่มกลับมาจัดงานได้หลังการระบาดระลอกแรกตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2563 มีทั้งหมด 644 งาน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2565-2566 จะเป็น “ปีแห่งการฟื้นฟู” ของอิมแพ็คฯ โดยปีนี้ธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว 70%  เทียบปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ดีมากก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ปัจจุบันมียอดจองพื้นที่จัดงานปีนี้แล้ว 304 งาน มากกว่าจำนวนงานตลอดปีที่แล้ว คาดว่าปี 2566 ธุรกิจจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งมีงานกว่า 1,107 งาน สร้างรายได้ 2,200 ล้านบาท

พร้อมประเมินว่าภาพรวมการจัดงานไมซ์ในอิมแพ็คฯช่วงครึ่งปีแรกนี้จะยังเป็นงานในประเทศ แม้ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย กลับมาเปิดระบบลงทะเบียนนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากบางประเทศต้นทางยังมีนโยบายต้องกักตัวขากลับ มองว่ากว่าตลาดไมซ์ต่างชาติจะฟื้น! น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้มากกว่า 

วิกฤติโควิด-19 ยังทุบธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) หายไปจำนวนมาก ส่งผลต่อจำนวนธุรกิจที่มาออกงานแสดงสินค้าต่างๆ และขนาดพื้นที่จัดงานลดลงไปด้วย

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เตรียมเปิดให้บริการโฉมใหม่ในเดือน ก.ย.2565 มองว่าคงจะมีลูกค้าบางรายที่อยากลองไปใช้บริการแต่ก็มีลูกค้าหลายรายโดยเฉพาะโซนตอนเหนือของกรุงเทพฯยังยืนยันจัดที่อิมแพ็คฯ”

และในวันนี้ (9 ก.พ.) รัฐบาลจะประกาศผลอย่างเป็นทางการว่าใช้พื้นที่ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าแห่งไหนเป็นสถานที่การจัดประชุม “เอเปค 2565” (APEC 2022) 

โดยวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจดูความพร้อมของอิมแพ็คฯ หากทางรัฐบาลเลือกใช้สถานที่ของอิมแพ็คฯ ยืนยันว่ามีความพร้อมด้วยพื้นที่ใช้สอยจัดงานมากกว่า 1 แสนตารางเมตร และมีโรงแรม 2 แห่งในพื้นที่รองรับการเข้าพักเกือบ 1,000 ห้อง เช่นเดียวกับการจัดงานอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 35 เมื่อปลายปี 2562 ซึ่งมีการปิดพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ประชุมฯเพื่อความปลอดภัย

ด้านแผนพัฒนาโครงการอสังหาฯอื่นๆ ในเมืองทองฯ เตรียมเปิดตัวโครงการ “โมริ” (Mori) ในปีนี้ เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่บริษัทฯบริหารและขายเอง โดยใช้โครงสร้างอาคารเก่าของคอนโดมิเนียมในเมืองทองฯ มาก่อสร้างเพิ่มเติมและปรับปรุงใหม่ 1 อาคาร ความสูง 10 ชั้น 800 ยูนิต ซึ่งเป็นอาคารที่มีคนสนใจอยากซื้อไปพัฒนาต่อ แต่บริษัทฯมองว่าพัฒนาเองดีกว่า เพราะเห็นดีมานด์ของคนเดินทางมาทำงานในพื้นที่เมืองทองฯ เตรียมเปิดขายเดือน เม.ย. กำหนดพัฒนาแล้วเสร็จปี 2566