นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง. ‘คงดอกเบี้ย’ สวนทางดอกเบี้ยโลกขาขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง. ‘คงดอกเบี้ย’ สวนทางดอกเบี้ยโลกขาขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง ถก กนง.นัดแรก ‘คงดอกเบี้ย’ จับตา 3 ปัจจัยกำหนดนโยบายการเงินในระยะถัดไป ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

      (9ก.พ.65) การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประจำปี 2565 ภายใต้ปัจจัยรุมเร้ามากมาย ที่สร้างความหนักอกหนักใจให้คณะกรรมการ กนง.ไม่น้อย ต่อการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้

      ทั้งจากปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โอมิครอน ที่การแพร่ระบาดยังไม่หยุดระดับการติดเชื้อระดับหมื่นคนต่อวัน รวมถึงกระแสโลกที่มีพูดถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปีนี้ ภายใต้การส่งสัญญาณของ ธนาคารหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐที่พร้อมปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรก และเตรียมถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีในเร็ววันนี้ 
 

    “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า คาดการณ์ว่า กนง.น่าจะยัง “คงดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ 0.50% เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะยิ่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ล้วนสร้างผลกระทบต่อกลุ่มคนไม่เท่ากัน

      กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักๆ จากการปรับขึ้นของเงินเฟ้อคือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มนี้มีความเปราะบางอยู่แล้ว หากมีการขึ้นดอกเบี้ยไปอีก กลุ่มนี้จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น ให้มีภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
 

      อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แม้จะเป็นข่าวดี ที่สะท้อนให้เห็นเทรนด์ของโลก ที่กำลัง “ฟื้นตัว”แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ดีกับไทยมากนัก เพราะประเทศไทยปัจจุบัน มีการฟื้นตัวช้า ดังนั้นหากต่างประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ย ท้ายที่สุดประเทศไทยอาจถูกกระทบได้

       วิจัยกรุงศรีฯ ศึกษาพบว่า หากสหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 2566 อย่างต่อเนื่อง ไปสู่ 2.5% ต่อเนื่องใน 5 ไตรมาสหลังจากนี้ จะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีไทยลง 0.4% ดังนั้นเราอาจถูกกระทบได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่จะห่างกันมากระหว่างไทยและสหรัฐ หรือธนาคารกลางอื่นๆ

    “ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า ครั้งนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% และคาดคงต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า

     แต่อย่างไรก็ตาม มี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่จะมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าคือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยเอื้อ หรือเป็นแรงกดดันให้กนง.สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ววันนี้ ดังนั้นอยากฟังมุมมองของ กนง.ครั้งนี้ ว่ามองทิศทางเงินเฟ้ออย่างไร

      ถัดมาคือ ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำมานาน ส่งผลให้คนเป็นหนี้เยอะ กู้เงินเยอะเหล่านี้สร้างความกังวลหรือไม่ รวมถึงภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ ยังเป็นการหนุนให้เกิดการออกไปแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้นมาก (search for yield) ที่สูงขึ้น ดังนั้นเหล่านี้อาจสร้างความกังวลในการดำเนินนโยบายและการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยได้

     สุดท้ายคือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐ ที่มีแนวโน้มห่างกันมากขึ้น เหล่านี้มีผล และสร้างความกังวลต่อ กนง. หรือมีอิมแพคต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินช่วงที่เหลือของปีนี้หรือไม่

     “มี 3 ปัจจัยที่อยากฟังท่าทีของ กนง.ว่ามองอย่างไร เพื่อให้เรามีการมองภาพการดำเนินนโยบายการเงินไปข้างหน้า ทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มีผลกับดอกเบี้ยไทยหรือไม่ รวมถึงหนี้ครัวเรือนสร้างความกังวลให้ ธปท.หรือไม่ ซึ่งทำให้ กนง.ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เราประเมินไว้หรือไม่”

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการประชุม กนง.ครั้งนี้ว่า กนง.น่าจะมีการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป แม้มองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโอมิครอนจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากเดลตา แต่เศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความ “เปราะบาง” ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก กว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้

      ดังนั้นมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และการคลังที่ต่อเนื่องจึงยังมีความจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง จาก “เงินเฟ้อ”ที่เร่งตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง

    ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลังจาก ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะราคาอาหารสด และพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

     โดยเฉพาะเนื้อหมูเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในขณะที่ ราคาอาหารสดอื่นๆ เช่น ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งก็ปรับสูงขึ้นราว 20% เหล่านี้ กระทบต่อไปยังกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      ดังนั้น คาดว่า กนง. คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จากเศรษฐกิจไทยยังคงไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ

      นอกจากนี้ กนง.คงจะมีมุมมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า หากปัญหาในฝั่งอุปทานนั้นคลี่คลายลง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้น แต่ กนง. น่าจะยังคงคาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อของไทยในปีนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3%

      เกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “จับตาเงินเฟ้อโลกและไทย ความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจปี 2022” ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดเงินเฟ้อทั้งปีจะขึ้นจาก 2% เป็น 2.3% ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1 จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี

    ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน มองว่าเผชิญความท้าทายหลายด้าน จากวัฏจักรเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากวัฏจักรเศรษฐกิจโลกทำให้การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและการดูแลเงินเฟ้อ

    โดยมีความท้าทายใน 3 มิติคือ เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของต่างประเทศที่ส่งผ่านมาที่ไทย และจะเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจในไทยสูงขึ้นตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น

     ในขณะที่ ธปท.ยังปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไม่ได้ อาจทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลออกมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและกระทบเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกได้

     โดย KKP Research ประเมินว่า ธปท. ยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด และยังเชื่อว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยคาดการณ์ว่า ธปท.อาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถกลับเข้ามาได้ตามคาด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์