จับตา ครม.ต่อสัมปทานสายสีเขียว "คมนาคม" ยืนยันค้าน 4 ประเด็น

จับตา ครม.ต่อสัมปทานสายสีเขียว "คมนาคม" ยืนยันค้าน 4 ประเด็น

“มหาดไทย” ชงต่อสัมปทานบีทีเอสเข้า ครม.วันนี้ “คมนาคม” ยืนยันค้าน 4 ประเด็น ย้ำยังไม่ทำตามกฎหมาย-มติ ครม.ให้ครบ พร้อมทวงถามคำตอบให้ครบ

กระบวนการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2562 เมื่อมีคำสั่ง คสช.ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการดูแลการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากนี้ร่างสัญญาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในเดือน พ.ย.2562

เมื่อมีการนำวาระการต่อสัญญาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ถูกตีกลับให้หาข้อมูลเพิ่ม รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยขอถอนวาระเองตลอดปี 2563-2564 จนกระทั่งมีการเสนอ ครม.ครั้งล่าสุดวันที่ 19 ต.ค.2564 แต่กระทรวงมหาดไทยขอถอนวาระหลังจากกระทรวงคมนาคมมีข้อท้วงติงเพิ่ม 4 ข้อ

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยจะเสนอ ครม.อีกครั้งในวันนี้ (8 ก.พ.) ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้บรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“คมนาคม”ยันค้าน4ประเด็น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังมีความเห็นคงเดิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยืนยันใน 4 ข้อทักท้วงที่ต้องการให้กรุงเทพมหานครตอบคำถามในประเด็นของการเสนอขอต่อสัมปทาน

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ทำข้อทักท้วงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 เรื่อง ประกอบด้วย 

1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (มาตรา 46 และมาตรา 47) เพราะในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไม่มีการเสนอความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานควรมีการประกวดราคาหรือควรเจรจาต่อรองกับเอกชนรายเดิม

2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ผลักดันนโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงในการเดินทางภายในโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเดินทางเชื่อมต่อกัน และได้ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง

3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

ยังมีข้อพิพาททางกฎหมาย

4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้สอบถามถึง 4 ข้อทักท้วงไปยังกรุงเทพมหานคร เพราะเห็นว่าการดำเนินการในประเด็นดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและมติ ครม.แต่พบว่ายังได้รับคำตอบของข้อทักท้วงที่ยังไม่ครบทุกประเด็น โดยหากกระทรวงมหาดไทยเสนอร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังยืนยันที่จะมีข้อทักท้วงสอบถามให้ประเด็นเดิม

“บีทีเอส”ใช้สิทธิทางกฎหมาย

รายงานข่าวระบุว่า การเจรจาระหว่างกระทรวงมหาดไทยและบีทีเอสเพื่อพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้มีการนำประเด็นหนี้ที่เกิดจากค่าจ้างที่กรุงเทพมหานครจ้างให้เดินรถส่วนต่อขยายและวางระบบการเดินรถไฟฟ้า โดยเมื่อการเสนอ ครม.เพื่อต่อสัมปทานไม่มีความคืบหน้าส่งผลให้บีทีเอสยื่นขอใช้สิทธิทางกฎหมาย โดยยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้ชำระหนี้ เพื่อลดปัญหาสภาพคล่องของบีทีเอส

สำหรับภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบีทีเอส แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จนถึงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 12,000 ล้านบาท 2.หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บีทีเอสการยื่นคำฟ้องครั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะหนี้สัญญาจ้างเดินรถ วงเงิน 12,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2564 ซึ่งที่ผ่านมาบีทีเอสยอมรับว่าการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าวที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทนั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจทำให้บีทีเอสจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาบริหารจัดการ

ส่วนหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) อยู่ในขั้นตอนเตรียมการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารที่มีรายละเอียดจำนวนมาก เช่น ค่างานตามสัญญา