FETCO เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ปรับลงสู่เกณฑ์ "คงตัว"

FETCO เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ปรับลงสู่เกณฑ์ "คงตัว"

FETCO เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย. 65) ปรับลงสู่เกณฑ์ "คงตัว" ปรับตัวลดลง 27.5% มาอยู่ที่ระดับ 93.91 นักลงทุนคาดหวัง FED คงนโยบายผ่อนคลาย และผลประกอบการ บจ. ขณะที่กังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.2565)  อยู่ที่ระดับ 93.91 ปรับตัวลดลง 27.5%  จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

โดยความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และแผนการกระจายวัคซีนป้องกัน Covid-19  สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รองลงมาคือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

FETCO เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ปรับลงสู่เกณฑ์ "คงตัว"

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมกราคม 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ 

- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2565) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ปรับตัวลดลง 27.5% มาอยู่ที่ระดับ 93.91
-  ความเชื่อมั่นนักลงทุนรายกลุ่มนักลงทุนสำรวจเดือนมกราคม 2565 พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ “ร้อนแรง”  กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ “ซบเซา”
-  หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดธนาคาร (BANK)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR)  
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ ความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
-  ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED 

ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 4.6% อยู่ที่ระดับ 121.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 8.3% อยู่ที่ระดับ 108.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 2.9% อยู่ที่ระดับ 125.00 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 64.3% มาอยู่ที่ระดับ 50.00


ในช่วงเดือนมกราคม 2565 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,634.17-1,680.02 จุด โดยดัชนีมีความผันผวนในช่วงต้นเดือนจากความกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดและมีแนวโน้มปรับขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐชะลอการรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม SET Index ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกหลังผลการประชุม FED จากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 ปิดที่ 1,648.81 จุด ปรับตัวลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์โอมิครอนซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ผลต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น  โดย FED มีแผนปรับลด QE เร็วขึ้น ซึ่ง QE Taper จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโดยอาจปรับลดลงเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้  และ FED มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปมีแผนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดียวกับธนาคารกลางจีน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งในหลายประเทศที่ต้องจับตามอง เช่น  รัสเซีย-ยูเครน  สถานการณ์ในตะวันออกกลาง เป็นต้น ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว  รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์