ส่องเศรษฐกิจโลกปี 2022 เมื่อเศรษฐกิจโลกอ่อนแอกว่าที่คาด

ส่องเศรษฐกิจโลกปี 2022 เมื่อเศรษฐกิจโลกอ่อนแอกว่าที่คาด

เศรษฐกิจโลกปีนี้ ไม่ค่อยสดใส หรือน้อยลงจากความเสี่ยง และ ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจโลก ปีนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 3 ข้อ "อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศรายได้ต่ำ-จำกัดเครื่องมือการเงินการคลังรัฐบาลทั่วโลก-คนรายได้น้อยเสี่ยงรับผลกระทบรุนแรงเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2021 นับได้ว่าฟื้นตัวดีจากผลกระทบของของโควิด คำถามคือปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ยังคงฟื้นตัวดีต่อไปหรือไม่

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พึ่งเผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกและการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2022 เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา

IMF สรุปว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในสถานะอ่อนแอกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อปลายปีก่อน โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัยได้แก่

- ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง กระทบกำลังซื้อและการบริโภคทั่วโลก

- การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

- ผลกระทบของการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

- ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

- ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ส่งผลให้การบริโภคภายในและเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวที่ 4.4% ลดลงจากปี 2021 ที่ขยายตัว 5.9% โดยปรับตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลดลง 0.5% เทียบกับเมื่อครั้งประเมินตอน ต.ค. 2021

สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะฟื้นตัวค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจาก ความเสี่ยงกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด เงินเฟ้อ สถานการณ์หนี้ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งปัจจัยข้างต้นกระทบทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวที่ 4.1% ต่ำกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 5.5% ทั้งนี้ยังขึ้นกับนโยบายการเงินการคลังที่ทั่วโลกจะนำออกมาใช้ตลอดหนึ่งปีข้างหน้า

เรียกว่า มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกปีนี้ ไม่ค่อยสดใส หรือสดใสน้อยลงจากที่เคยประเมินกันไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากความเสี่ยงข้างต้น ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศรายได้ต่ำ

แม้สถานการณ์การระบาดดูดีขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง แต่ปัจจุบัน ผลจากการที่ประเทศยากจนหลายประเทศยังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ ทำให้ยังเสี่ยงเกิดเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา สร้างความไม่แน่นอนว่าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่นำไปสู่ความรุนแรงอีกหรือไม่

สถิติพบว่า ปัจจุบันประเทศรายได้ต่ำมีอัตราผู้ฉีดวัคซีนครบโดสเฉลี่ยเพียง 5.5% เท่านั้น ขณะที่ในประเทศรายได้สูง มากกว่า 72% ของประชากรได้รับวัคซีนครบโดสหรืออย่างน้อยสองเข็มแล้ว ตัวอย่างประเทศที่อัตราฉีดวัคซีนต่ำมากๆ เช่น เฮติ มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพียง 1% คองโก มีประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพียง 0.4% หรือบุรุนดีที่มีผู้ได้วัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแค่ 0.05% 

จะเห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศรายได้ต่ำอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงจริงๆ

ดังนั้นการช่วยให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีน มีกำลังการผลิตวัคซีนที่เพียงพอ ขนส่งวัคซีนได้มีประสิทธิภาพ มีการกระจายวัคซีนให้ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศรายได้น้อยอย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญในการจำกัดความเสี่ยงเกิดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต

สอง ความจำกัดในเครื่องมือทางการเงินการคลังของรัฐบาลทั่วโลก

หลายประเทศมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับศักยภาพที่จำกัดในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อไป ฐานะการคลังของหลายประเทศไม่อยู่ในภาวะช่วยอัดฉีดเศรษฐกิจได้แล้ว การที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังขาดเครื่องมือการคลังและการเงินสำหรับกระตุ้นหรือดูแลเศรษฐกิจ เป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปีนี้

สาม ประชากรรายได้น้อยทั่วโลก เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ประชากรผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ซึ่งต้องระบุว่าทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน เสี่ยงตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกระทบผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นแรงงานโดยตรง และการใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ก็เสี่ยงกดดันให้ผู้มีรายได้น้อยลำบากมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ปีนี้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด เสี่ยงได้รับแรงกดดันจากปัจจับลบหลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจหดตัว มีรายได้ลดลงจากชั่วโมงทำงานที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น รวมถึงคนที่มีหนี้ ก็จะยิ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ประเทศไทยในฐานะที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกสูง ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ต้องจับตาความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด