กางแผนลงทุนภาครัฐปี 65 ถึงเวลา “หุ้นรับเหมา” ติดปีก?

กางแผนลงทุนภาครัฐปี 65  ถึงเวลา “หุ้นรับเหมา” ติดปีก?

การเปิดประมูลงานภาครัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงา หลายโครงการถูกเลื่อนออกไป หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่เวลานี้เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เชื่อว่าปีนี้คงได้เห็นรัฐบาลเร่งสปีดเดินหน้าเปิดประมูลงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป และแน่นอนว่าเมื่อรัฐเดินเครื่อง เอกชนพร้อมตามทันที ถือเป็นข่าวดีสำหรับ “หุ้นรับเหมาก่อสร้าง”

โดยต้นปีที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบรายจ่ายลงทุนถึง 7 แสนล้านบาท

ด้านกระทรวงคมนาคมประกาศแผนลงทุนประจำปี 2565 รวม 37 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

- โครงการลงทุนต่อเนื่อง 13 โครงการ วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท

- โครงการลงทุนใหม่ 24 โครงการ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของโครงการใหม่จะครอบคลุมการลงทุนในทุกเส้นทาง ได้แก่ 

“ทางถนน” 12 โครงการ วงเงิน 2.81 แสนล้านบาท เช่น 

  • มอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท
  • มอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 2.78 หมื่นล้านบาท
  • มอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 5.17 หมื่นล้านบาท

“ทางบก” มีโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1.36 พันล้านบาท

“ทางราง” 5 โครงการ วงเงิน 6.24 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

  • รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท
  • รถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.53 หมื่นล้านบาท
  • รถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท

“ทางน้ำ” 2 โครงการ วงเงิน 7.56 พันล้านบาท ได้แก่

  • โครงการแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง วงเงิน 6.11 พันล้านบาท
  • โครงการพื้นฟูชายหาด วงเงิน 1.44 พันล้านบาท

“ทางอากาศ” 4 โครงการ วงเงิน 5.94 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาสนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ ชุมพร และระนอง

กางแผนลงทุนภาครัฐปี 65  ถึงเวลา “หุ้นรับเหมา” ติดปีก?

ประเดิมปีนี้ด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่เปิดซองราคาไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งงานนี้บิ๊กรับเหมาแบ่งงานกันไปถ้วนหน้า โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้งานไปมากที่สุด 3 สัญญา หนึ่งในนั้นร่วมมือกับบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK จับมือกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC คว้าไป 2 สัญญา และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ได้มา 1 สัญญา

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปีนี้ที่ภาครัฐจะเร่งเดินหน้าเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยโครงการประมูลถัดไปที่น่าจับตามอง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง BEM ที่มี CK เป็นผู้รับเหมาหลัก และ BTS ที่มี STEC เป็นผู้รับเหมาหลัก 

ทำให้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะได้ทั้งกระแสเก็งกำไรและเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ CK ราคาเป้าหมาย 25 บาท และ STEC ราคาเป้าหมาย 18 บาท ส่วน ITD และ NWR มีพื้นฐานที่อ่อนแอกว่าและมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัว เช่นการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์และการปรับประมาณการต้นทุนก่อสร้างบ่อยครั้งทำให้มีอัตรากำไรไม่สม่ำเสมอ

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ยังคงน้ำหนักกลุ่มรับเหมา “มากกว่าตลาด” หรือ “Overweight” จากแนวโน้ม Backlog ที่กลับมาเป็นขาขึ้นและการเปิดประมูลโครงการใหญ่ที่มีความคืบหน้าต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากผู้รับเหมาหลักที่ได้รับประโยชน์แล้ว กลุ่มผู้รับเหมาฐานราก ได้แก่ PYLON และ SEAFCO จะได้ประโยชน์เช่นกันจากงาน Subcontract

สำหรับ Top pick ได้แก่ CK ราคาเป้าหมาย 25.50 บาท จากทิศทาง Backlog ปี 2565 ที่จะกลับไปแตะระดับสูงถึง 1 แสนล้านบาท ขณะที่บริษัทยังมีลุ้นงานติดตั้งระบบ M&E ของโครงการสายสีม่วงใต้เพิ่มเติมอีก 2.7 หมื่นล้านบาท และหาก BEM ได้รับสัมปทานการเดินรถเส้นทางนี้จะเป็นอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมายเพิ่มอีกราว 0.6-0.7 บาท