สทนช. จี้ตั้งคณะกรรมการ22 ลุ่มน้ำ หวังดันเก็บค่าน้ำภาคอุตฯ-พาณิชยกรรม

สทนช. จี้ตั้งคณะกรรมการ22 ลุ่มน้ำ หวังดันเก็บค่าน้ำภาคอุตฯ-พาณิชยกรรม

สทนช.เร่ง ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำ 22 ลุ่มน้ำ ทำหน้าที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ พร้อมผลักดัน เก็บค่าน้ำภาคอุตฯ-พาณิชยกรรม ส่วนเกษตรยังยกเว้น คาดว่าจะคัดเลือกแล้วเสร็จใน เดือน เม.ย. นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 กำหนดให้มีกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ โดยมีองค์ประกอบ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากจังหวัดต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำ จังหวัดละ 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน รวม 9 คน และ กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ จำนวน 4 คน

 

โดยมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง/ภาวะน้ำท่วม การพิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ การให้ความเห็นชอบการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 คือ ภาคอุตสาหกรรม  และน้ำประเภทที่  3 คือพาณิชยกรรม ที่ตามพ.ร.บ. กำหนดให้เก็บค่าน้ำ  ขณะที่การใช้น้ำประเภทที่ 1 คือ เพื่อเกษตรกรรม นั้น ไม่มีการจัดเก็บ

สทนช. จี้ตั้งคณะกรรมการ22 ลุ่มน้ำ หวังดันเก็บค่าน้ำภาคอุตฯ-พาณิชยกรรม

 นอกจากนี้คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ ฯ ยังมีหน้าที่การพิจารณาให้ความเห็นแผนงาน โครงการด้านทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ ตลอดจนการส่งเสริมและรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

สำหรับ การดำเนินงานได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ตามกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ พ.ศ.2564 ปัจจุบันได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำแล้ว

 

ในส่วนของกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะดำเนินการประชุมเพื่อคัดเลือก ในช่วงเดือนม.ค.- ก.พ. 2565 และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ มีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อเดือนธ.ค. 2564 เพื่อพิจารณาเกณฑ์ในการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ และประเด็นคำถามกลาง

 

และจะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาคัดเลือก ในช่วงเดือนก.พ.- มี.ค. 2565 ซึ่งจะสามารถประกาศแต่งตั้งกรรมการลุ่มน้ำครบทั้ง 3 ภาคส่วนได้ในเดือนมี.ค. 2565 และเมื่อมีคณะกรรมการลุ่มน้ำครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำแล้ว จะมีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จำนวน 6 คนจากกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ในเดือนเม.ย. 2565

 

  หลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำแล้ว จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่ง สทนช.รับจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำให้แก่ภาคประชาชน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา

 

 โดยปัจจุบันมีองค์กรผู้ใช้น้ำที่ยื่นคำขอจดทะเบียนทั้งสิ้น 3,271 องค์กร พิจารณาอนุมัติแล้ว 3,238 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีจำนวน 2,702 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม จำนวน 271 องค์กร ภาคพาณิชยกรรม จำนวน 265 องค์กร และได้มีการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากการเสนอชื่อขององค์กรผู้ใช้น้ำที่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แล้วเสร็จเมื่อเดือนก.ย. 2564 อยู่ระหว่างการรอประกาศแต่งตั้ง สำหรับกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ระหว่างการคัดเลือก/สรรหา คาดว่าจะได้คณะกรรมการลุ่มน้ำครบทุกองค์ประกอบ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภายในเดือน มี.ค. นี้

“คณะกรรมการลุ่มน้ำดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันกฎหมายอัตราการจัดเก็บค่าน้ำ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี 2561 โดยเบื้องต้นจะมีการเก็บค่าน้ำ 2 ประเภทคือประเภทที่ 2 และ3  โดยการใช้น้ำประเภทที่ 2  ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น ซึ่งการใช้ทรัพยากรน้ำดังกล่าว หากมีอัตราการใช้น้ำบาดาลมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ต่อบ่อ แต่ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม.ต่อวันต่อบ่อ หรือมีอัตราการใช้น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำไม่เกิน 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน ถือเป็นการใช้น้ำประเภทที่สอง”

 

     และการใช้น้ำประเภทที่3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง จะมีน้ำบาดาล มีการใช้น้ำในอัตราต่อบ่อเกิน 3,200 ลบ.ม. ต่อวัน ส่วน น้ำผิวดิน มีการใช้น้ำในอัตราเกิน 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน

        ส่วนน้ำภาคเกษตร ซึ่งจัดอยู่ในประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือนการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณ ยังไม่มีแผนจัดเก็บค่าน้ำ

        " เบื้องต้น จะพิจารณาจัดเก็บ ประเภทที่ 2 และ 3ส่วนอัตราที่ต้องจ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น จะต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ขึ้นมากำหนดในแต่ละพื้นที่ ส่วนการใช้น้ำเพื่อทำเกษตรประเภทที่ 1 ยังไม่มีการพิจารณา ทั้งหมดนี้จะมีการประกาศการจัดเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากัน  ซึ่งภายในเดือนเม.ย. นี้จะต้องเกิดคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ได้ก่อน มีผู้แทนรายภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมมิติใหม่ครั้งนี้"

 

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำและ คณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และเกิดการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้ใช้น้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม สทนช.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับคณะกรรมการลุ่มน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

 

จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบขึ้นมาเป็นการเฉพาะภายในองค์กร คือ กองส่งเสริมองค์ความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร เพื่อรับผิดชอบดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด ประกอบด้วย

 

การ ส่งเสริม สนับสนุน ประชาสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบขององค์กรผู้ใช้น้ำ โดยสื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางที่หลากหลาย สร้างหลักสูตรในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรกลางให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ต่อไป

 

การจัดทำหลักสูตรพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทในเขตลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ รวมถึงการรับเรื่องร้องทุกข์ ไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ

 

         สำหรับ  22 ลุ่มน้ำหลัก ประกอบด้วย 353 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง  ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายางทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก