เปิดแพ็คเกจ EV เขย่าตลาดรถ รัฐจ่ายอุดหนุน “รถยนต์-ปิ๊กอัพ-มอเตอร์ไซค์”

เปิดแพ็คเกจ EV เขย่าตลาดรถ รัฐจ่ายอุดหนุน “รถยนต์-ปิ๊กอัพ-มอเตอร์ไซค์”

“แพ็คเกจอีวี” เตรียมเข้า ครม.ภายใน ก.พ.นี้ ไม่ทำตามเงื่อนไขส่งเสริมต้องคืนเงินอุดหนุนพร้อมยึดแบงก์การันตี “รถยนต์-กระบะ” รับเงินช่วย 1.5 แสนบาท จักรยานยนต์ 1.8 หมื่นบาท ลดสรรพสามิต 4 ปี เหลือ 0-2% ลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% “จีเอ็ม” ระบุเงื่อนไขมีแรงจูงใจ

การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะที่ได้ข้อสรุปแล้ว 

รวมทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้เสนอแพ็กเกจอีวีให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ปลายเดือน ม.ค.2565 เพื่อเตรียมบรรจุวาระเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ก่อนหน้านี้บอร์ดอีวีเคยเสนอเรื่องไปแล้วในเดือน ธ.ค.2564 แต่ต้องการปรับรายละเอียดเพิ่มเติมหลังจากบอร์ดอีวีประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 โดยเฉพาะในประเด็นเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิตามมาตรการส่งเสริมให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น หลักเกณฑ์ผู้ขอใช้สิทธิ์ บทลงโทษ และการวางเงินค้ำประกัน

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กระทรวงพลังงานเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เร็วที่สุด โดยเนื้อหาที่ได้ปรับเพิ่มเติมได้เสนอ สลค.แล้ว และคงใช้เวลาไม่นานนับจากนี้จะบรรจุวาระเข้า ครม.

สำหรับช่วงที่ผ่านมาที่ยังไม่เสนอ ครม.เพราะคณะทำงานต้องการทำแพ็คเกจให้ดีที่สุดจึงปรับแก้รายละเอียดหลายแนวทาง รวมทั้งเป็นการแก้ไขเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศปรับตัวได้อย่างมั่นคง

“มาตรการที่จะออกมาควรร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงพลังงานร่วมหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการทำแพ็คเกจ เพื่อให้มาตรการครอบคลุมทุกความคิดเห็น เพราะ เอกชนก็อยากทำและรัฐบาลก็จะออกนโยบาย เมื่อมาเขียนแผนร่วมกันก็น่าจะไปทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งเป้าไปสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน” นายกวิน กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า หากไม่เวียนหนังสือถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อบรรจุวาระเสนอ ครม.แต่เรื่องนี้ทำหนังสือเวียนอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วเข้า ครม.สัปดาห์หน้า และอย่างช้าไม่เกินกลางเดือน ก.พ.2565

จ่ายเงินอุดหนุนปี65-68

แหล่งข่าวได้ระบุถึงร่างมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 

1.รถยนต์ แยกการให้สิทธิเป็นกลุ่มที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท (รถที่ผลิตและประกอบในประเทศ) ให้สิทธิประโยชน์ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ในปี 2565-2566, ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% ในปี 2565-2568, เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 คันละ 70,000 บาท สำหรับรถที่ใช้ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถใช้แบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขในปี 2567 ต้องผลิตเพื่อชดเชยรถที่นำเข้าในปี 2565-2566 โดยผลิตรถรุ่นใดก็ได้ 

เปิดแพ็คเกจ EV เขย่าตลาดรถ รัฐจ่ายอุดหนุน “รถยนต์-ปิ๊กอัพ-มอเตอร์ไซค์” ขณะที่รถยนต์ที่ราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ได้สิทธิประโยชน์ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เป็น 2% ในปี 2565-2568 และแหล่งข่าวบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่าต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565-2566 เท่านั้น

สำหรับเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 และหากจำเป็นขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568

2.รถจักรยานยนต์ แบ่งเป็นราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ได้สิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ทั้ง CKD และ CBU ในปี 2565-2568 โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 หากจำเป็นขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568 โดยต้องผลิตอัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน และต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565-2566

3.รถกระบะ ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้สิทธิประโยชน์ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในปี 2565-2568, เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 คันละ 150,000 บาท สำหรับรถยนต์กระบะ BEV แบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป เฉพาะที่ผลิตในประเทศ โดยผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำให้กรมสรรพสามิตเพื่อพิจารณา และผู้ขอรับสิทธิต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิต้องทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำกับกรมสรรพสามิตพิจารณา โดยกรมสรรพสามิตจะอุดหนุนเงินและภาษีไปที่ผู้ประกอบการเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) ประกอบการขอใช้สิทธิ์ และหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งถูกยึดเงินค้าประกันจากธนาคาร และไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้าตามมาตรการ ซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีทั้ง 2 ส่วน พร้อมด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นับแต่วันที่ความรับผิดในอันต้องเสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสรรพสามิต ศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร

แนะเร่งประกาศป้องกันตลาดชะลอ

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจี และเป็นผู้นำตลาดรถอีวีในไทยปัจจุบัน กล่าวว่า การกำหนดมาตรการสนับสนุนอีวีของภาครัฐเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ทำให้มีความสนใจ อีวี เพิ่มมากขึ้น และผลักดันตลาดให้ขยายตัวได้เร็วขึ้น สอดคล้องกับแนวนโยบายของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ รัฐควรจะต้องประกาศใช้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคที่ติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 บางส่วนชะลอการซื้อรถออกไป หรือ ชะลอการรับรถสำหรับผู้ที่จองไปแล้ว เพราะต้องการดูเงื่อนไข และสิ่งที่จะได้จากมาตรการนี้ดังนั้นหากยืดเยื้อออกไป จะส่งผลกระทบต่อตลาดในภาพรวมได้

ระบุเงื่อนไขมีแรงจูงใจ

สำหรับรายละเอียดมาตรการ มองว่ามีเงื่อนไขที่ดี เพราะจะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคได้ชัดเจน เช่น รถในกลุ่มราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่จะได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับ อีวี ที่ติดตั้งแบตเตอรีขนาด 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง

“ปัจจุบันมี อีวี ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือระดับราคาประมาณ 1 ล้านบาท หลายรุ่น ซึ่งการได้รับการสนับสนุนด้วยจำนวนเงินดังกล่าว จะสร้างแรงจูงใจลูกค้าได้อย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ สำหรับรถที่ทำตลาดอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น เอ็มจี หรือ โอร่า ก็จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสรรพสามิต ที่ปัจจุบันเสียในอัตรา 8% เหลือ 2% ซึ่งส่วนที่ลดลงไป 6% คิดเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นบาท เท่ากับว่าลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อรถลดลงประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ อีวี ขยายตัวได้อีกทาง"

เชื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ขณะที่ประเด็นด้านอากรขาเข้าที่ปัจจุบัน อีวี นำเข้าจากจีนกุมความได้เปรียบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ภาระอากรขาเข้าอยู่ที่ 0% ขณะที่การนำเข้าจากแหล่งอื่นมีอากรขาเข้า รวมถึงญี่ปุ่นที่มีข้อตกลง JTEPA ต้องเสีย 20% เกาหลี 40% ส่วนต้นทางประเทศอื่นเสีย 80% แต่แนวทางการส่งเสริมที่ลดอาการขาเข้าสูงสุด 40% จะทำให้รถจากญี่ปุ่นและเกาหลี ลดลงเหลือ 0% เท่ากับจีน

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การลดอากรขาเข้าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น แม้ว่ารถจากจีนจะลดความได้เปรียบลงไป แต่หากมองในภาพรวมที่ตลาดมีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้นในอนาคต หากมีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น จะช่วยสร้างการรับรู้ การยอมรับต่ออีวีของผู้บริโภค และส่งผลต่อภาพรวมตลาดที่จะขยายตัวในอนาคต เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

“แน่นอนการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เท่านกัน ดังนั้นก็อยู่ที่ว่าใครจะพัฒนาสินค้า ติดตั้งออปชั่น หรือ ทำราคาได้ถูกใจผู้บริโภคมากกว่ากัน”

ติงเงื่อนไขผลิตรุ่นเดียวกับนำเข้า

ส่วนเงื่อนไขการให้ผลิตรถในประเทศ (CKD) ชดเชยการนำเข้าในปี 2567 เห็นเว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีแผนจะ ซีเคดีอยู่แล้ว เพราะเวลา 2 ปี เพียงพอต่อการเตรียมการด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 1 เงื่อนไขของมาตรการส่งเสริมที่เห็นว่าอาจทำให้ความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจหายไป คือ เงื่อนไขในกลุ่มรถราคาเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท หากเข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตรถชดเชยการนำเข้า โดยจะต้องเป็นรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่นำเข้ามา

เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อีกทั้งการเริ่มต้นทำตลาด รถที่นำเข้ามาอาจจะอยู่ในช่วงกลางหรือปลายอายุของโมเดล เมื่อถึงเวลาต้องผลิตชดเชยในปี 2567 หรือ ขยายถึงปี 2568 รถรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่าย อาจจะตกรุ่นไปแล้ว

ปิกอัพ“อีวี”ภาพยังไม่ชัดเจน

ด้านแหล่งข่าวจากธุรกิจยานยนต์ ระบุว่า แนวทางการส่งเสริมเป็นเรื่องน่าสนใจและครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง ปิกอัพ จักรยานยนต์ อย่างไรก็ตามเห็นว่าสิ่งที่จะเห็นผลชัดมากกว่า คือ รถยนต์นั่ง ส่วนปิกอัพอาจจะมีบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะโปรดักท์แชมเปี้ยนที่อยู่ในตลาดไทยมานาน ยังอาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่่องยนต์ เพราะไฟฟ้าอาจยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานหนัก ระยะทางไกล และใช้งานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีบางบริษัทที่แสดงท่าทีสนใจทำตลาดปิกอัพ อีวี เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่เคยนำ โพเออร์ อีวี เข้ามาจัดแสดงก่อนหน้านี้