สรุป 4 เรื่อง "ภาษีคริปโทฯ" ต้องรู้สำหรับสาย "คริปโทฯ" ฉบับรวบรัด

สรุป 4 เรื่อง "ภาษีคริปโทฯ" ต้องรู้สำหรับสาย "คริปโทฯ" ฉบับรวบรัด

ทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ "ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี" ล่าสุด จากคู่มือ "กรมสรรพากร" ธุรกรรมแบบไหนต้องยื่นภาษี ถูกหักภาษีจริงๆ เท่าไร คำนวณกำไรขาดทุนอย่างไร อ้างอิงราคาที่ไหน ?

การเรียกเก็บ "ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี" หรือ "ภาษีคริปโทฯ" ที่รวมถึง "โทเคนดิจิทัล" ในไทยยังคงเป็นเรื่องร้อนแรง แต่ก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ "กรมสรรพากร" ทำคู่มือ "คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล" ออกมาเพื่อแสดงตัวอย่างการ "คำนวณภาษีคริปโทฯ" พร้อมเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันในหลายๆ เรื่อง ขณะที่กรมสรรพากรเองก็มีท่าทีที่มากขึ้นในการปรับกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การประกาศปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ในไทยช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนสับสน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงสรุป 4 เรื่องสำคัญ ที่สายคริปโทฯ ต้องรู้ (อัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 1 ก.พ. 65) เพื่อให้เข้าใจก่อนวางแผนภาษีของตัวเอง 

 

 1. ภาษีคริปโทฯ ไม่ใช่ 15% แต่เป็น 0-35% 

หนึ่งในเรื่องที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเก็บภาษีคริปโทฯ คือ ตัวเลขหัก ณ ที่จ่าย 15% ที่ประกาศออกมาในตอนแรก การเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่การหัก ณ ที่จ่าย 15% เมื่อมีการขายคริปโทฯ นั้น ยังไม่ใช่ภาษีขั้นสุดท้าย

หมายความว่าหลังจากที่ถูกหักไป 15% ณ ช่วงที่ขายแล้ว ตัวเลขนี้สามารถนำมากรอกในขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้น ตัวเลขการเสียภาษีจึงไม่ใช่ ตัวเลขของการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหมือนกันทุกคน แต่อัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับฐานภาษีที่แต่ละคนต้องจ่ายหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว 0-35% ตามขั้นบันได นั่นเอง 

สรุป 4 เรื่อง \"ภาษีคริปโทฯ\" ต้องรู้สำหรับสาย \"คริปโทฯ\" ฉบับรวบรัด

"กฎหมายบอกว่า เป็นสินทรัพย์ การขายก็เกิดภาษี มีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ และต้องหัก ณ ที่จ่าย 15% และนำรายได้มารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบในช่วงปลายปี ซึ่งผู้มีรายได้อาจจะมีลดหย่อนต่างๆ ท้ายที่สุด อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้” เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

 2. ถ้าเทรดกับกระดาน หรือ Exchange ที่ ก.ล.ต.กำกับ หักกลบกำไรขาดทุนได้ 

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง และถูกมองว่าไม่เป็นธรรมคือ หลักเกณฑ์การเก็บภาษีคริปโทฯ ที่ถูกพูดถึงในช่วงแรกว่าจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในทุกการขายคริปโทฯ ที่ได้กำไร แต่ไม่สามารถนำมาหักลบกับการขายคริปโทฯ ที่ขาดทุนได้ 

แต่ล่าสุด อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้พร้อมให้ข้อมูลว่า กฎหมายเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล เขียนขึ้นเมื่อปี 2561 โดยกฎหมายเขียนให้เก็บจาก Capital gain แต่หากมีการวางแผนภาษี ก็จะไม่เสียภาษีตัวนี้ ถือเป็นการตั้งใจหลบภาษี ฉะนั้น หลักภาษีสากลจึงคิดจาก Transaction หักกลบไม่ได้

หลังจากที่มีคำถามเกิดขึ้น เมื่อศึกษากรณีการเก็บภาษีคริปโทฯ ในต่างประเทศหลายประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงหาทางออกว่า ถ้าเป็นธุรกรรมที่ทำใน Exchange ที่อยู่ในตลาดที่ก.ล.ต.กำกับ จะยอมให้หักกลบได้ ถือว่าเป็นแนวทางสากล

 3. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับ Exchange ที่กำกับโดย ก.ล.ต. 

อธิบดีกรมสรรพากร ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า โดยปกติแล้วผู้ที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ผู้ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่การซื้อขายคริปโทฯ มีปัญหาคือ ไม่รู้จะออกใบกำกับภาษีให้ใคร กรมสรรพากร จึงแก้ปัญหาด้วยเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับ Exchange ที่กำกับโดย ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 4. เรียกเก็บภาษีจากธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ คริปโทฯ/โทเคนดิจิทัล 5 แบบ 

 

สรุป 4 เรื่อง \"ภาษีคริปโทฯ\" ต้องรู้สำหรับสาย \"คริปโทฯ\" ฉบับรวบรัด

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายการเสียภาษีคริปโทฯ จะต้องเป็นผู้ที่ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง 5 กลุ่ม ได้แก่

4.1 การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

4.2 การขุดคริปโทเคอร์เรนซี

4.3 การได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง

4.4 การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล

4.5 ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง

รูปแบบที่ 1 คือ โทเคนดิจิทัล ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 40 (4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร

รูปแบบที่ 2 คือ คริปโทเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

โดยทั้ง 2 รูปแบบกำหนดยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มี.ค.ของปีถัดไป

โดยทั้ง 5 ธุรกรรมที่เกิดขึ้น จะต้องวัดมูลค่าโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทฯ ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา โดยต้องเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ ของ ก.ล.ต.และ ให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษีด้วย

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดภาษีคริปโทฯ และวิธีการคำนวณได้จากคู่มือ "คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล" จากกรมสรรพากร คลิกที่นี่

------------------------------------------------------

อ้างอิง: กรมสรรพากร, กรุงเทพธุรกิจ

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์