คลังตั้งงบ 6 หมื่นล้าน หนุนสวัสดิการบัตรคนจนรอบใหม่

คลังตั้งงบ 6 หมื่นล้าน หนุนสวัสดิการบัตรคนจนรอบใหม่

คลังตั้งงบ 6 หมื่นล้าน หนุนสวัสดิการคนจนรอบใหม่ที่ครอบคลุม 17 ล้านคน ประเมินโครงการนี้มีทิศทางที่ดี ขณะที่ วิกฤติโควิด-19 อาจทำให้ยอดคนจนพุ่ง รับเข้มเงื่อนไขเพิ่มหวังคัดกรองคนจนจริง ระบุ พบถือบัตรเครดิต พบประวัติเดินทางต่างประเทศ และซื้อขายหุ้น ถูกตัดสิทธิทันที

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากสังคม ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการดูแลสวัสดิการคนจนเพิ่มเติมไว้จำนวนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรองรับการใช้จ่ายสำหรับการใช้จ่ายสวัสดิการเพิ่มเติมของผู้ที่จะได้รับสิทธิในบัตรคนจนรอบใหม่ที่จะมีการลงทะเบียนและคัดกรองผู้มีสิทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดการณ์จำนวนผู้ที่จะได้รับบัตรคนจนรอบใหม่นี้ประมาณ 17 ล้านคน แต่เราเปิดกรอบไว้ถึง 20 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือบัตร ณ วันที่ 25 ม.ค.2565 อยู่จำนวน 13.45 ล้านคน

เขากล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มโครงการบัตรคนจนในปี 2560-2561 โดยขณะนั้น มีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 18.76 ล้านคน มีผู้ผ่านเกณฑ์อยู่ 14.6 ล้านคน ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อคัดกรองบุคคลที่ควรได้รับสิทธิ แต่ก็มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิลดลงทั้งจากการเสียชีวิต การยกเลิกบัตรจากการขาดคุณสมบัติ ทำให้ปัจจุบันเหลือผู้ได้รับสิทธิอยู่ 13.45 ล้านคน

ทั้งนี้ สาเหตุที่เราตั้งจำนวนผู้ที่คาดว่าจะได้รับสิทธิในบัตรคนจนอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านคน เป็นเพราะประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำให้คนตกงานและไม่มีรายได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้นในเรื่องของเงื่อนไขการได้รับสิทธิก็เชื่อว่า จะทำให้มีผู้ที่สมควรได้รับสิทธิตัวจริงเพิ่มมากขึ้น

“เรายังประเมินไม่ได้ชัดเจนว่า โครงการบัตรคนจนที่รัฐบาลดำเนินการนั้น ประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ถือว่า เป็นไปในทางที่ดี เพราะตัวเลขคนจนที่ออกจากระบบก็มี แต่เพราะช่วงวิกฤติโควิด คนตกงานเยอะมาก และออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าจะมีจำนวนถือบัตรคนจนเพิ่มก็มีความเป็นไปได้ เราจึงตั้งเป้าหมายคนจนเพิ่ม”

 

คุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังคงเหมือนเดิม เช่น

  • เป็นคนสัญชาติไทย
  • อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท
  • มีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากในธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล ไม่เกิน 1 แสนบาท
  • กรณีเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ ห้องแถว ตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา กรณีเป็นห้องชุดต้องไม่เกิน 35 ตารางเมตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ความแตกต่างในการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในครั้งนี้ คือ จะนำรายได้ของครอบครัวมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น กรณี ครอบครัว ที่มีพ่อ แม่ และลูกที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี รวม 3 คน พ่อ และแม่ จะต้องผ่านเกณฑ์การได้รับบัตรสวัสดิการดังกล่าวข้างต้น แล้วยังต้องนำรายได้ทั้งครอบครัวมารวมกัน แล้วหารสาม หากรายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาท ถือว่าผ่านเกณฑ์ได้รับบัตรสวัสดิการ

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ อื่นๆ ที่ใช้เพื่อกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้สมควรได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีบัตรเครดิต,ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ , ไม่มีประวัติการซื้อขายหุ้น , มีวงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และมีวงเงินกู้เพื่อซื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่มีประวัติการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น  ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ จะต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ผู้ต้องกักขัง ,ข้าราชการ หรือพนักงานราชการ

“การที่เรามีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ก็เพื่อให้สวัสดิการรัฐไปถึงคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ และเพื่อไม่ให้มีประเด็นที่คนบ้านนั้น มีรถยนต์ แต่มีบัตรคนจน แต่คนมีรถเข็นขายของ กลับไม่มีบัตรคนจน ฉะนั้น ปัญหานี้ก็จะขจัดออกไป เราจึงทำง่ายๆ ไม่ได้”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์