สัญญาณผลผลิตอุตฯฟื้น คาดปี 65 MPI โต 4-5%

สัญญาณผลผลิตอุตฯฟื้น  คาดปี 65 MPI โต 4-5%

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ 2563-64 ผู้คนและเศรษฐกิจไทยและโลกต้องเผชิญความยากลำบากอย่างหนักจากการระบาดโควิด-19 แต่สถานการณ์ขณะนี้ทุกอย่างมีสัญญาณคลี่คลาย สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ที่ชี้ว่าสถานการณ์กำลังเริ่มกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.93% สูงกว่าเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการซึ่งจากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.0-5.0%

ส่วนปี 2565 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 4-5% จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแม้บางประเทศจะกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาด แต่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ ทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกยังเดินหน้าต่อ เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย

โดยในเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ส่งออกไม่รวมทองคำ อาวุธ และอากาศยาน ขยายตัว 23.56% มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 19,572.3 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำ เดือนธ.ค.2564 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป

สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังประเทศคู่ค้ามีมาตรการรับมือทางด้านเศรษฐกิจ และการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งคาดว่าการระบาดของโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่ำกว่าช่วงการระบาดก่อนหน้า และมีแนวโน้มคลี่คลายสู่ภาวะปกติได้เร็วหากไม่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม
 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องจับตาคือ การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าบางกลุ่ม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน และผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัว ทั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นปัญหาระยะสั้นและทยอยคลี่คลายในช่วงหลังของปี 2565

สำหรับมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ เร่งกระจายวัคซีนให้เข้าถึงแรงงานโดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เฝ้าระวังการแพร่ระบาดในสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกฎระเบียบต่างๆ ส่วนมาตรการระยะยาวมุ่งเน่นการ Upskill และ Reskill แรงงาน รวมถึงการยกระดับศักยภาพสู่ Smart Factory

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 102.59 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6.83% และขยายตัวสูงขึ้นกว่าเดือนธ.ค.ปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 98.81 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับ MPI ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.93% ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2564 อยู่ที่ 63.73% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และอาหารที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจโลก

ประกอบกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่สะท้อนผ่านการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จึงคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยและประเทศคู่ค้ามีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่

สัญญาณผลผลิตอุตฯฟื้น  คาดปี 65 MPI โต 4-5% สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนธ.ค. 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.15% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ โดยขยายตัวตามตลาดส่งออกและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.54% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตาชนิดที่ 2 น้ำมันเตาชนิดที่ 5 และน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราสูง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.52% เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าเดิมและมีจำนวนโรงงานที่เริ่มเปิดหีบมากกว่าปีก่อน รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้มีมากกว่าปีก่อน

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.24% เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ