“ภาษีคริปโท” ล่าสุด เปิด “5 ธุรกรรม” แบบไหนบ้าง ต้องจ่ายภาษีเงินได้

“ภาษีคริปโท” ล่าสุด เปิด “5 ธุรกรรม” แบบไหนบ้าง ต้องจ่ายภาษีเงินได้

อัพเดทล่าสุด “ภาษีคริปโท” กรมสรรพากรออกคู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “คริปโทฯ-โทเคน” ยึดหลัก “ทำให้ชัด ผ่อนปรน มองอนาคต” เผย 5 กลุ่มเข้าข่ายยื่นแบบประจำปี ครอบคลุมสาย “เทรด-ขุด-ค่าจ้างเงินเดือน-รางวัล-ผลตอบแทน” ด้าน “เอกนิติ”รับเตรียมแก้กฎหมายวางบรรทัดฐานการจัดเก็บให้ชัดเจน เท่าทันโลกยุคใหม่

วานนี้ (31 ม.ค.) กรมสรรพากร ได้ออกคำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี-โทเคนดิจิทัล โดยยึดแนวทาง “ทำให้ชัด ผ่อนปรน มองอนาคต” มีเนื้อหาครอบคลุม

1.การจัดประเภทเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/ รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อื่นใดจากคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

2. การคำนวณต้นทุนใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้

3.การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มาเพื่อให้ ผู้เสียภาษีเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้เป็นคู่มือประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 เท่านั้น คู่มือนี้จึงไม่ได้ครอบคลุมประเด็นภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าข่ายการเสียภาษี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล 2.การขุดคริปโทเคอร์เรนซี 3.การได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 4.การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล 5.ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง 5.1 โทเคนดิจิทัล 5.2 คริปโทเคอร์เรนซี โดยกำหนดยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มี.ค.ของปีถัดไป

“จ่ายโอน”เลือกวิธีคำนวณต้นทุนได้

1.สำหรับวิธีการยื่นแบบภาษีสำหรับการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโท/โทเคนดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือเป็นเงินได้ มาตรา 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ

โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนใดก็ได้เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี โดยต้นทุนให้รวมถึงค่าซื้อและค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งคริปโท/โทเคนดิจิทัล เช่น ค่าธรรมเนียมและ ค่าโอน เป็นต้น

ส่วนการวัดมูลค่าคริปโท/โทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น

กรณีที่มีผลขาดทุนไม่ว่าจะเกิดจากคริปโท/โทเคนดิจิทัลประเภทใดๆ ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน สามารถนำมาหักกลบกับกำไรที่เกิดจาก คริป โท/โทเคนดิจิทัลประเภทใดก็ได้ แต่เฉพาะธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.เท่านั้น

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ถือว่า มูลค่าต้นทุนของคริปโท/โทเคนดิจิทัลที่คงเหลือ ณ วันสิ้นปี เป็นการถือคริปโท/ โทเคนดิจิทัลไว้ โดยไม่มีการจำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน จึงยังไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมินแต่อย่างใด และให้ถือมูลค่านี้เป็นต้นทุนที่ต้องยกไปสำหรับปีภาษีถัดไปด้วย

“สายขุด”นับเป็นเงินได้เมื่อขาย

2.สำหรับวิธีการยื่นแบบชำระภาษีกรณีการขุดคริปโทนั้น ณ วันที่ได้รับคริปโทจากการขุด ยังไม่นับเป็นเงินได้ แต่เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทที่ขุดมาได้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เป็นต้น รวมถึง ค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน เช่น คอมพิวเตอร์ โดยทยอยหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน

การคำนวณต้นทุนคริปโทประเภทเดียวกัน ให้ใช้วิธีที่มาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อน ออกก่อน หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ และให้คำนวณต้นทุนแยกตาม ประเภทของเหรียญ โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนใดก็ได้ เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี 

เงินเดือนคริปโทถือเป็นเงินได้

3.ผู้ที่ได้รับคริปโทเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างนั้น ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน โดยการวัดมูลค่าคริปโททั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือ ราคาถัวเฉลี่ย ในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

กรณีได้รับเหรียญคริปโทเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถ นำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้ ในระหว่างปีภาษี หากผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ สามารถนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาใช้เป็นเครดิต ภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ได้

ให้-รางวัล ต้องยื่นแบบ

4.คริปโท/โทเคนดิจิทัล จากการให้หรือได้รับเป็นรางวัล ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรม การขนส่ง หรือการอื่นๆ เช่นได้รับแจกเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย ซึ่งการวัดมูลค่าคริปโท/โทเคนดิจิทัล ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายไ้ด ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งต้องเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่นราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นโดยก.ล.ต. และเลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

สรรพากรระบุว่า กรณีที่คริปโท/โทเคนดิจิทัลมา เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้

แยกยื่นกรณีรับดอกผล

5.ได้รับผลประโยชน์ หรือ ผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัล และ คริปโท แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีโทเคนดิจิทัล ใช้ตัวอย่างจาก Yield farming หรือ Staking เป็นต้น ให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล ส่วนกรณีคริปโทถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

การวัดมูลค่าโทเคนดิจิทัล/คริปโท ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ย ในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของก.ล.ต.และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

สรรพากรจ่อแก้กฎหมาย

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและมีหลายมิติในการพิจารณา และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเป็นออกร่างแก้ไขประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ซึ่งจำเป็นต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้อนุมัติ

ทั้งนี้ มาตรา 50 ในประมวลรัษฎากร กำหนดให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีการต่างๆ

4ประเด็นวางบรรทัดฐานเก็บภาษี

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ประเด็นที่มองในอนาคตและขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ก็คือ ข้อเสนอของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คือ 1.ที่ต้องการให้การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากกำไรของการเทรดคริปโทฯเป็น Final Tax หมายความว่า ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีต้องปลายปีอีกครั้ง

2.ต้องการให้ลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายลงมาให้ต่ำกว่า 15% ซึ่งเป็นอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมาย 3.แก้ไขให้ Exchange เป็นผู้มีหน้าที่ในการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ปัจจุบันผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย แล้วนำส่งกรมสรรพากร

4.เสนอให้เก็บภาษีในรูปแบบเหมือนที่จะทำในตลาดหุ้น คือ เป็น Financial Transaction Tax ในอัตรา 0.1% ซึ่งจำเป็นต้องไปหารือกันว่า ลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นเหมือนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่

ยันสินทรัพย์ดิจิทัลมีภาระภาษี

สำหรับที่มาที่ไปของการจัดเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ดร.เอกนิติ ระบุว่า การจัดเก็บภาษี เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุว่า คริปโทฯ เป็นอะไรกันแน่ เป็นเงิน หรือเป็นอะไร โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลและถูกกำกับโดย ก.ล.ต. จึงมีประเด็นภาษีตามมา

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อเป็นสินทรัพย์แล้ว เวลาขายสินทรัพย์ออกไป ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เมื่อขายไปแล้วมีเงินได้ ก็ต้องเสียเงินได้ต่อ ไม่ว่า จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ฉะนั้นเมื่อเป็นสินทรัพย์แล้ว เมื่อมีการขายมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีเงินได้ ก็ต้องมาคำนวณภาษีเงินได้

หัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่ใช่ Final Tax

ขณะเดียวกัน กฎหมายในปี 2561 ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ซึ่งกรณีนี้คนเข้าใจผิดเยอะมาก คิดว่าเสียภาษีคริปโทฯในอัตรา 15% แต่ไม่ใช่เพราะเป็นการหัก ณ ที่จ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียภาษี 15% แต่ผู้มีรายได้จะต้องนำรายได้ที่เกิดจากการเทรดคริปโทฯไปคำนวณภาษีตอนปลายปี ซึ่งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 0-35% อัตราก้าวหน้า

“ฉะนั้น เมื่อกฎหมายบอกว่า เป็นสินทรัพย์ การขายก็เกิดภาษี มีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ และ ต้องหัก ณ ที่จ่าย 15% และนำรายได้มารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบในช่วงปลายปี ซึ่งผู้มีรายได้อาจจะมีลดหย่อนต่างๆ ท้ายที่สุดแล้ว อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้”

เทรดคริปโทฯพุ่ง 2 ล้านบัญชี

อย่างไรก็ตาม จากปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการเกี่ยวกับการซื้อขายคริปโทฯจำนวนมาก กล่าวคือ 1.จำนวนคนเทรดจากเมื่อต้นปี 2564 อยู่ที่ 1.7 แสนคน แต่ปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 2 ล้านบัญชี มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,6000 ล้านบาท เป็น 114,500 ล้านบาท 2.ผลิตภัณฑ์คริปโทฯมีความหลากหลายมาก ฉะนั้นกฎหมายที่ระบุไว้เดิมอาจตามไม่ทัน

“ด้วยความหวังดีของกรมสรรพากร เมื่อต้นปีเราทำแบบฟอร์มการยื่นแบบภาษีที่ชัดเจนมากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้จากกำไรเทรดคริปโทฯมาเขียนไว้ด้วย จึงเกิดดราม่าว่า กรมสรรพากรเข้ามาเก็บภาษีคริปโทฯทั้งที่เราเก็บมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว”

รับกฎหมายเขียนแนวเก็บภาษีไม่ชัด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีคริปโทฯมีปัญหาเกิดขึ้นจริง โดยเรื่องที่ 1. คือ กฎหมายเขียนไว้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มี Exchange ไม่มี Bitkub และอื่นๆ สมัยก่อนการซื้อขายจะรู้ตัวบุคคล แต่ตอนนี้ ไม่รู้ ผู้ซื้อขายไม่รู้จักกัน ทั้งนี้ กฎหมายปี 2561 กำหนดให้ผู้ซื้อเป็นคนหักภาษี ณ ที่ จ่าย 15% จากกำไรของผู้ขาย แต่ตอนนี้ ไม่รู้ใครขาย ก็หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้

2.การหักกลบผลกำไรขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้มีคำอธิบายว่า เมื่อปี 2561 กฎหมายเขียนให้เก็บจากส่วนต่างราคาซื้อและขาย(Capital gain) แต่หากมีการวางแผนภาษี ก็จะไม่เสียภาษีตัวนี้ ถือเป็นการตั้งใจหลบภาษี ฉะนั้นหลักภาษีสากล ให้คิดจาก Transaction คือ ไม่ยอมให้นำมาหักกลบ

แต่วันนี้ เมื่อมีตลาดเกิดขึ้น นักลงทุนเทรดกันตลอดเวลา ก็มีการมองว่า ไม่แฟร์ ทำไมหักกลบไม่ได้ กรมสรรพากรจึงไปศึกษาในต่างประเทศ เลยหาทางออกว่า ถ้าเป็น Exchange ที่อยู่ภายใต้กำกับก.ล.ต. สามารถหักกลบได้เป็นแนวทางสากล

“สิ่งที่เกิดขึ้น 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ร่วมกับสมาคมดิจิทัลต่างๆ มาตกลงกันว่า จะทำ 3 สิ่งเพื่อแก้ปัญหา คือ 1.ทำให้ชัด คือ จัดประเภทเงินได้เป็นอะไรแน่ และคำนวณอย่างไร 2.ต้นทุน เอามาตรฐานทางบัญชีมาใช้ คือ เข้าก่อนออกก่อน หรือ ต้นทุนเฉลี่ยก็ได้ เลือกเอาบัญชีไหนก็ได้ 3.ตัววัดมูลค่าสินทรัพย์ จะวัดว่า ได้เหรียญ ณ เวลาที่ได้มา หรือ ถัวเฉลี่ยก็ได้ นี่คือ สิ่งที่ทำให้ชัดภายใต้กฎหมายปัจจุบัน”