CHO จ่อปิด "บิ๊กดีลใหญ่" รุกเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นไฟฟ้า

CHO จ่อปิด "บิ๊กดีลใหญ่" รุกเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นไฟฟ้า

"ช ทวี" มุ่งธุรกิจใหม่ "เทคฯ-อีวี" จ่อคว้าบิ๊กดีล "เปลี่ยนรถ" น้ำมัน เป็น ไฟฟ้าจำนวน 5 พันคัน พร้อมปีนี้ตั้งเป้าพลิกกำไร ภายใน 3 ปี สัดส่วนรายได้ธุรกิจใหม่เกิน 50% และตลาดเข้า SET ทันที !

จากธุรกิจผู้ประกอบการโรงงานผลิตอยู่ในสินค้าอุตสาหกรรม... ทว่าปัจจุบันกำลัง “พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ !” มุ่งสู่เป้าหมายเป็นหนึ่งในบริษัท “เทคคอมพานี” สำหรับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ของ “ตระกูลทวีแสงสกุลไทย” สัดส่วนถือหุ้น 34.87% (ตัวเลข 22 พ.ย.2564) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย นั่นคือ “ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) และ “เทคโนโลยี” 

“สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทวางแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) เร่ง “ปรับพอร์ตรายได้” (Diversify) ด้วยการสร้างพอร์ต “ธุรกิจใหม่” (New Business) ขึ้นมาเป็นกลุ่ม “ธุรกิจหลัก” (Core Business) แทนธุรกิจดั้งเดิม อย่าง “ยานยนต์ไฟฟ้า-เทคโนโลยี” 

สืบเนื่องจากนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขผลประกอบการของบริษัท (ปี 2563-งวด 9 เดือนปี 2564) “ขาดทุนสุทธิ” อยู่ที่ 238.74 ล้านบาท และ 256.58 ล้านบาท 

สะท้อนผ่าน การลงทุน “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเปลี่ยน “รถขนส่ง” จากการใช้พลังงานน้ำมันมาเป็นรถขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าของเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) โดยบริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทางพันธมิตรในแผนการเปลี่ยนจากรถขนส่งใช้พลังงานน้ำมันมาเป็นขนส่งส่งใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้าของพันธมิตรนั้น มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนรถขนส่งที่ใช้พลังงานน้ำมันมาเป็นรถขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จำนวน 5,000 คัน ! ซึ่งหากบริษัทสามารถดำเนินการถือว่าจะเป็น “รายได้ก้อนใหญ่” เข้ามาในธุรกิจใหม่ 

“ปัจจุบันเรามีการเซ็น MOU ร่วมกันแล้ว ซึ่งอนาคตจะมีการร่วมทุน (JV) ในธุรกิจรถไฟฟ้าอีกด้วย คาดว่าดีลดังกล่าวจะประกาศออกมาช่วงกลางปีนี้“ 

ขณะที่ “ธุรกิจเทคโนโลยี” บริษัทมีกลยุทธ์ลงทุนใน 3 ธุรกิจ นั่นคือ 1. การออกโทเคน (Token) โดยใช้ชื่อว่า “KGO” (เคโก๊ะ) 2. การทำ NFT หรือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่มีความเฉพาะตัว โดยทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชน (Blockchain) และ 3. เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Metaverse) ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีแผนกำลังศึกษาอยู่ 

อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2567 บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้พอร์ตธุรกิจใหม่เกินกว่า 50% และเมื่อถึงเวลานั้นเป้าหมายบริษัทจะย้ายไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จากปัจจุบันอยู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ร่วมทั้งย้ายหมวดธุรกิจมาเป็น “หมวดเทคโนโลยี” 

CHO จ่อปิด \"บิ๊กดีลใหญ่\" รุกเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นไฟฟ้า ทั้งนี้ จากแผนธุรกิจสร้างการเติบโตครั้งใหม่ สิ่งสำคัญคือ “เงินลงทุน” ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้า สะท้อนผ่านแผนการหาแหล่งเงินทุนครั้งใหญ่ของบริษัทจึงเกิดขึ้น หลังการตัดสินใจนำบริษัทย่อย Arogo Capital Acquisition Corp. (AOGOU) เข้าระดมทุนใน “ตลาดหุ้นแนสแด็ก” (NASDAQ) ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ในรูปแบบ SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) ซึ่งได้เงินจากการระดมทุนราว 3,600 ล้านบาท 

อนึ่ง การระดมทุนรูปแบบ SPAC ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีการประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะระดมทุนจากผู้ลงทุนและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปซื้อกิจการอื่นที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (private company) เพื่อนำมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท SPAC 

ทั้งนี้ บริษัทกำลังหาบริษัทเป้าหมาย (Target Company) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัพ” ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาคุยด้วยกว่า 30 รายแล้ว โดยบริษัทมีบริษัทเข้าตาที่คาดว่าจะซื้อกิจการจำนวน 1 แห่ง โดยเป็นธุรกิจเทคโนโลยีดำเนินธุรกิจในประเทศสิงค์โปร์ คาดว่าช่วงกลางปีนี้จะสามารถประกาศปิดดีลดังกล่าวได้ ก่อนจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ ซึ่งคาดว่าการลงทุนจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทมีแผนระดมทุนในรูปแบบ SPAC อีก 2 ครั้ง เพื่อมาลงทุนในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยี อาทิ บล็อกเชน , เมตาเวิร์ส และสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ฯลฯ ส่วนธุรกิจเดิมเตรียมให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ (EV Autonomous) ไตรมาส 3 ปี 2565

เขา บอกต่อว่า ในปี 2565 บริษัทคาดจะสามารถ “พลิกมีกำไร” และสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ ภายหลังรับรู้กำไรบริษัทย่อยเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแนสแด็กครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2564 ขณะที่รายได้ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตกว่าปี 2563 มีรายได้ 647.96 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดรายได้กลับเติบโตใกล้เคียงกับในอดีตราว 2,000 ล้านบาท 

จากการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มฐานรายได้ประจำ ,สร้างสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย และการออกสินค้าใหม่ โดยในส่วนของรายได้บริษัทตั้งเป้าเติบโตดีกว่าปี 2564 ซึ่งยังมาจากธุรกิจที่มีรายได้ประจำไม่ว่าจะเป็นบริการซ่อมบำรุงรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) , บริการซ่อมบำรุงรถยนต์นั่ง รถโดยสารไฟฟ้าในเครือ SCG (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย) 

รวมทั้งบริการซ่อมบำรุงรักษารถ London Taxi ของเอเชีย แค็ป จำนวน 400 คัน , ศูนย์ซ่อมรถบรรทุก 10 ล้อ 24 ชั่วโมง , ศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุก Tesco Lotus รวม 6 DC , บริการรถโดยสารรับส่งบุคคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเครือ SCG และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงขยายธุรกิจบริการรถขนส่งมวลชนสาธารณะ (Smart Bus) ในจังหวัดชลบุรี 

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทยังมีงานตามสัญญา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สนับสนุนภาคพื้นสนามบิน ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง โดยคาดว่าในปีนี้งานดังกล่าวมีทิศทางการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย , งานผลิตภัณฑ์มาตรฐาน และงานซ่อมปืนใหญ่ให้กองทัพบก จำนวน 22 กระบอก โดยปี 2563 ส่งมอบแล้ว 13 กระบอก และอีก 9 กระบอกคาดว่าจะสามารถส่งมอบภายในต้นไตรมาส 1 ปี 2565

อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อจำหน่ายในปี 2565 เช่น การพัฒนารถ London Taxi ให้เป็นระบบไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะเริ่มออกมาได้ในช่วงปลายปี 2566 และพัฒนารถบัสโดยสารไฟฟ้าขนาด 8 เมตร ส่วนความร่วมมือพัฒนาระบบบริหารโครงการ ขณะนี้มีโครงการต่อเรือตรวจการไกลฝั่ง จำนวน 6 ลำ ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ , โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสินค้าในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (DTI-CHO) , โครงการเพื่อพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero emissions)

สุดท้าย “สุรเดช” บอกไว้ว่า เราคาดว่าผลดำเนินงานจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ สะท้อนผ่านแผนการลงทุนและการระดมทุนมาต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจในอนาคต