อสังหาฯ ปลดเบรก เหยียบคันเร่ง คืนชีพลงทุน

อสังหาฯ ปลดเบรก  เหยียบคันเร่ง คืนชีพลงทุน

ธุรกิจ “แช่แข็ง” ตัวเองได้ไม่นาน ตราบใดที่องค์กรมีภาระต้องแบกทั้งความคาดหวังผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า ธุรกิจอสังหาฯ เดินเกมระวังลงทุน เปิดโครงการใหม่มา 2 ปี เซฟ “กระสุนทุน” ไว้ แต่ปี 65 ดีเวลลอปเปอร์คิกออฟ ปลุกเชื่อมั่น เหยียบคันเร่งลงทุน คืนชีพอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เรียลเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิดไม่ต่างจากหลายเซ็กเตอร์ เพราะ “ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย” หดหายไป โดยเฉพาะต่างชาติ ที่เคยเป็นตลาดที่หอมหวานไม่น้อยของบรรดาดีเวลลอปเปอร์ ส่วนผู้บริโภคชาวไทย จำนวนไม่น้อยที่การงานเริ่มสั่นคลาย ตกงาน ว่างงาน ทำให้ฐานะการเงิน มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการจึง “ชะลอ” การเปิดตัวโครงการใหม่

ทว่า ปี 2565 ตลาดมีความคึกคัก เปิดศักราชใหม่ด้วยสถานการณ์ที่ดีเวลลอปเปอร์เดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ มูลค่ามหาศาล เพราะหลายรายเห็นพ้อง “ตลาดอสังหาฯพ้นจุดต่ำสุด” แล้ว แม้ยังมี “จุดเสี่ยง” จากไวรัสโอมิครอนก็ตาม

++บิ๊กดีเวลลอปเปอร์เหยียบคันเร่งลงทุน

หมดเวลาจำศีล ธุรกิจต้องเคลื่อนไหวอีกครั้ง ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต่างประกาศแผนปี 2565 ชนิดที่ไม่ยอมน้อยหน้ากัน เขย่าใหญ่เขย่าแรง ยกให้ “บมจ.เอพี ไทยแลนด์” เพราะลั่นกรองรบด้วยการผุด 65 โครงการใหม่ มูลค่า 78,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปลุกปั้นบริษัทมา 38 ปี

สำหรับโครงการใหม่จัดเต็มทั้งทาวโฮม 29 โครงการ มูลค่า 25,200 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 26 โครงการ มูลค่า 35,600 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่า 13,000 ล้านบาท ไม่เพียงลุยโปรเจคในเมือง ยังจัดทัพรุกตลาดต่างจังหวัดอีก 5 โครงการ มูลค่า 4,200 ล้านบาท

 

มั่นใจลงทุนใหญ่ขนาดนี้ อาวุธต้องพร้อม  วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ฉายภาพการเคลื่อนธุรกิจปีนี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “BREAKTHROUGH ทุกข้อจำกัด”

การพุ่งทะยานต่อไม่ง่าย เพราะความไม่แน่นอนยังรออยู่เบื้องหน้า แต่จากการเป็นดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ ผ่านร้อนหนาวมาหลายสิบปี ทำให้มีบทเรียนในการ “ฝ่าวิกฤติ” ไม่น้อย ขณะที่ 2 ปีของการต่อสู้กับไวรัสมฤตยู บริษัทสร้างภูมิคุ้มกันรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งการให้อำนาจการตัดสินใจแก่ผู้เผชิญการเปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างระบบหลังบ้านให้แข็งแกร่ง จัดโครงการองค์กรให้พร้อมดาหน้าท้าอุปสรรค(Threats) เป็นต้น

“เราพร้อมก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยแผนเปิดตัวโครงการใหม่มากกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า”

อสังหาฯ ปลดเบรก  เหยียบคันเร่ง คืนชีพลงทุน

วิทการ จันทวิมล

อีกพี่เบิ้มของวงการอย่าง “บมจ.แสนสิริ” จัดทัพลงทุนไม่แพ้กัน เดินหน้าเปิดตัว 46 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 28 โครงการ และคอนโดมิเนียม 18 โครงการ

เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ย้อนภาพปี 2564 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทว่า แสนสิริขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯได้อย่างแข็งแกร่งจากความเชื่อมั่นใน “ความหวัง” หรือ “Year of Hope” ซึ่งบริษัทมุ่งตอบรับทุกความหวังไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สังคม และคนไทยทุกคน โดยเฉพาะการทำให้คนไทยมีบ้านง่ายขึ้น ด้วยการเน้นการเปิดตัวโครงการแนวราบสนองความต้องการอยู่อาศัยที่แท้จริงหรือตลาด Real Demand การเปิดตัวโครงการจับตลาดกลุ่มเป้าหมายที่ราคาเข้าถึงง่ายหรือ Affordable Segment ส่งแบรนด์ “คอนโด มี” ชูคอนโดมิเนียม “ราคาต่ำล้าน” เจาะผู้บริโภค เป็นต้น

ส่วนปี 2565 แสนสิริชูก้าวที่แกร่งด้วย “STEP BEYOND” ผลักดันธุรกิจอสังหาฯเติบโตยั่งยืนทุกมิติ โดยมี 3 กุญแจสำคัญ ได้แก่ PROFIT - PEOPLE – PLANET

Profit แสนสิริจะมุ่งสร้างรายได้และผลกำไรเพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งปีจึงวางแผนลุย 46 โปรเจคใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย มีแบรนด์หัวหอกบุกตลาด เช่น คอนโดมิเนียม เดอะ เบส 4 โครงการ ทาวน์โฮมราคาเข้าถึงง่ายอย่าง สิริเพลส 8 โครงการ ตลาดบนไม่ทิ้ง เพราะจะเห็นการกลับมาของบ้านเดี่ยวสุดหรู นาราสิริ 2 โครงการ เป็นต้น

PEOPLE ที่การดำเนินธุรกิจจะอยู่ภายใต้ “YOU-centric” คุณทุกคนทั้งพนักงาน ลูกค้า สังคม ฯเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนที่สำคัญของแสนสิริ และ PLANET ซึ่งแสนสิริมุ่งมั่นเดินหน้าในพันธกิจสีเขียว โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่วางเป้าหมายเป็น Net-zero องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ปีนี้จึงลุยพันธกิจพัฒนาโครงการด้วยการใช้พลังงานสะอาด การติดตั้ง Solar Roof ในส่วนกลางของโครงการใหม่ 100% รวมทั้ง ติดตั้ง Solar Roof ในบ้านทุกหลังของโครงการใหม่ในระดับบน 100% เป็นต้น

“วิสัยทัศน์ STEP BEYOND จะผลักดันให้แสนสิริเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนในทุกมิติ ธุรกิจที่แข็งแรงต้องดูแลโลก ดูแลสังคม เมื่อคนแข็งแรงช่วยกัน เราก็จะสามารถสร้างความหวังและกำลังใจให้คนตัวเล็กสู้ต่อ เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้”

++แข่งผุดโปรเจคใหม่รับสัญญาณบวก

นอกจากดีเวลลอปเปอร์ประสานเสียงตลาดพ้นจุดต่ำสุดแล้ว “สัญญาณบวก” ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้เล่นแต่ละรายตบเท้าลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่อง บมจ.โนเบิล จำนวนโครงการใหม่อาจไม่มากกับตัวเลข 18 โครงการ แต่มูลค่าโครงการพร้อมเกทับคู่แข่งด้วยมูลค่า 47,700 ล้านบาท มีครบทั้งโครงการแนวราบ และคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ 12 โครงการ มูลค่า 18,800 ล้านบาท คอนโดมิเนียมไฮไรส์อีก 6 โครงการ มูลค่า 28,900 ล้านบาท

ธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2564 ตลาดอสังหาฯพ้นจุดต่ำสุด ส่วนปี 2565 ตลาดขานรับสัญญาณบวกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รัฐต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมจำนองอสังหาฯ เหลือ 0.1% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ 2% และ 1% ตามลำดับ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่านคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-To-Value: LTV) ทั้งหมดวล้วนเป็นอานิสงส์ต่อตลาดอสังหาฯ

“ภาพรวมตลาดอสังหาฯปีนี้จะฟื้นตัวจาากปีก่อน แม้มีไวรัสโอมิครอนระบาด แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากนัก เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อ Sentinment ของคนในประเทศผ่อนคลายลง ส่วนภาครัฐปลดล็อกมาตรการต่างที่เป็นข้อจำกัดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยด้วย”

ด้าน บมจ.ศุภาลัย ขอทำนิวไฮอีกราย ด้วยการเปิดตัว 34 โครงการใหม่ มูลค่าราว 40,000 ล้านบาท จัดทัพบุกโครงการแนวราบมากถึง 31 โครงการ ส่วนคอนโดมิเนียมมีเพียง 3 โครงการ

การใส่เกียร์ลงทุนพันฒนาโครงการใหม่ๆ เพราะมองบวกไม่ต่างจากผู้เล่นรายอื่น ซึ่ง ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) ย้ำความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของผู้บริโภค แต่ในภาวะที่ตลาดยังมีความเปราะบาง ดีเวลลอปเปอร์ต้องพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์แต่ละเซ็กเมนต์ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำเล ราคา เป็นต้น

ส่วนบิ๊กดีเวลลอปเปอร์อย่าง เอสซี แอสเสทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่สูงถึง 27 โครงการ มูลค่า 38,900 ล้านบาท เพื่อสานต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ที่กวาดยอดขายกว่า 21,000 ล้านบาท เติบโตราว 31%

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยักษ์อสังหาฯที่กลับมาคืนชีพการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ รองรับ

ดีมานด์ที่ยังมีอยู่ แต่โจทย์ผู้ซื้อปีนี้คงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้คนซื้อจะเป็นกลุ่มเดิม แต่ความต้องการไม่เหมือนเดิมแน่นอน หากใครหา Insight ลูกค้าเจอ โอกาสชิงเงินในกระเป๋าย่อมมีมากขึ้น

++โครงการแนวราบแกร่ง

คอนโดกลางกรุงอยู่ในโหมดระวัง

การ “รู้เขารู้เรา” จะเพิ่มโอกาสให้รบร้อยครั้งชนะได้ร้อยครั้ง ดีเวลลอปเปอร์ย่อมไม่พลาดที่จะเกาะเทรนด์ตลาด ซึ่งปี 2565 อะไรจะเป็นขาขึ้น-ขาลง ติดตาม

อสังหาฯ ปลดเบรก  เหยียบคันเร่ง คืนชีพลงทุน รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ

รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ฉายภาพตลาดที่อยู่อาศัยมี 3 เทรนด์ที่ต้องจับตาดังนี้ 1.ตลาดตอบสนองความต้องการที่แท้จริงจากในประเทศ นับว่าเป็นอีกปีที่ดีเวลลอปเปอร์ต้องพึ่งพาอำนาจซื้อเรียลดีมานด์ที่เป็นชาวคนไทย หลังจากผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรหายไปในช่วงที่ผ่านมา โดยคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ซื้อชาวไทยใช้เวลาในการตัดสินใจและเลือกอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น โครงการแนวราบจะได้รับความนิยมกว่าคอนโดมิเนียม เพราะมีราคาที่เอื้อมถึงและมีพื้นที่ใช้สอย มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า

2.ตลาดเฉพาะกลุ่ม(Nich Market)ยังไปได้สวย ขึ้นชื่อว่าตลาดเฉพาะมีน้อย ดังนั้นดีเวลลอปเปอร์ต้องหากลุ่มเป้าหมายให้เจอว่าอยู่ตรงไหน เพื่อสร้างโอกาสทำเงิน ทั้งนี้ ซีบีอาร์อี ให้มุมมองโครงการที่ทำเลที่ตั้งใกล้โรงเรียน มหาวิทยาลัย โครงการที่มีเครือโรงแรมมาบริหาร(Branded Residence)จะยังมีผลงานที่ดีต่อ ท่ามกลางเศรษฐกิจหดตัว เพราะดีมานดืยังมี รวมถึงที่พักตากอากาศในแหล่งท่องเที่ยวยังติดลมบน คนไทยสนใจซื้ออยู่แต่เงื่อนไขคือ “ราคา” ต้องเหมาะสม

3.สถานะการเงินของผู้ซื้อ โควิดฉุดอำนาจซื้อของผู้บริโภคหายไปอย่างมาก หลายคนตกงาน ว่างงาน สั่นคลอนฐานะการเงินส่วนบุคคลที่จะซื้ออสังหาฯทุกระดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งเศรษฐี เพราะธุรกิจ การค้าขายได้รับผลกระทบ ก่อให้เกิดความตึงเครียดด้านการเงิน ดังนั้น ผู้ซื้อจึงมองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดจากดีเวลลอปเปอร์

“อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะช่วยกระตุ้นตลาดได้ แต่ความสามารถในการซื้อที่ต่ำ ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อตลาดอสังหาฯ อีกทั้งผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจตลาด และสถานการณ์ที่ผู้พัฒนาโครงการกำลังเผชิญ จึงมองหาข้อเสนอที่ดีให้กับตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ภาพรวมโครงการแนวราบยังคงแข็งแกร่ง เป็นผลจากความนิยมของผู้ซื้อที่ “เปลี่ยน” ไปสู่ที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำไปพื้นที่ใหญ่ ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับการทำงานแบบไฮบริด และความไม่แน่นอนในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาโครงการจึงต้องออกแบบที่อยู่อาศัยซึ่งมีพื้นที่ใช้งานได้จริงและเหมาะสมกลายเป็น เพราะมีต่อการตัดสินใจเลือกซื้อโครงการ เช่น พื้นที่เอนกประสงค์ปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะการใช้ชีวิต ห้องทำงานส่วนตัวหรือห้องเด็กเล่น พื้นที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน พื้นที่สำหรับครอบครัวและห้องครัว หรือพื้นที่ที่มีเพดานสูงเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการต้องสามารถรองรับกิจกรรมกลางแจ้ง ที่จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องออกจากบริเวณโครงการเพื่อไปพักผ่อนข้างนอกและรู้สึกปลอดภัยกว่า เป็นต้น

ส่วนคอนโดมิเนียม การพัฒนาโครงการใจกลางเมืองถูกแช่แข็งให้อยู่ในโหมด “ระมัดระวัง” จากโรคระบาด รวมถึงจำนวน “ซัพพลาย” หรือจำนวนยูนิตเหลือขายในตาด ส่งผลให้เกือบ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ไร้โครงการเปิดใหม่ นับเป็น “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์” ของอสังหาฯ

ขณะที่การพัฒนาโครงการใหม่ปีนี้ จะเห็นการหาทำเลและกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ยังมีความต้องการแข็งแกร่ง โดยเฉพาะนอกย่านใจกลางเศรษฐกิจหรือCBD เพื่อผุดโปรเจคที่ราคาขาย “ไม่แพงเกินไป” สำหรับผู้ซื้อ เพราะแนวโน้มผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจ “นานขึ้น” และความต้องการเปลี่ยนไปไม่ต่างจากบ้านเดี่ยว ที่มองหาพื้นที่ใช้งานได้จริงและคุ้มค่ามากขึ้น

“ตลาดคอนโดมิเนียมยังคงฟื้นตัวช้า และมีความคึกคักมากขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดโดยรวมยังไม่ดีขึ้นนัก”

++ออฟฟิศ ค้าปลีก ผู้เช่าอำนาจต่อรองเพิ่ม

ตลาดอาคารสำนักงานหรือออฟฟิศ 3 เทรนด์ที่ต้องจับตา คือการทำงานแบบไฮบริดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่โควิด-19 ยังระบาด กระทบวิถีชีวิตผู้คน องค์กรให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล(ESG)มากขึ้น จึงมองหาพื้นที่สำนักงานใหม่ที่ตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประหยัดพลังงานต่างๆ รวมถึงจะเห็นการย้ายออฟฟิศไปสู่พื้นที่มีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ โรคโควิดระบาดลากยาวำให้ปี 2564 อัตราการเช่าพื้นที่ออฟฟิศ(Net Take-up) “ติดลบ” สะสมที่ 80,026 ตารางเมตร(เมตร) เรียกว่าดำดิ่งครั้งแรกในรอบ 22 ปี หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และยังมีความเปราะบางต่อตลาดในปี 2565 ที่จะเห็นขบริษัทต่าง ๆ ประเมินกลยุทธ์ด้านสถานที่ทำงานของตนเองใหม่จากการปรับรูปแบบการทำแบบไฮบริด การลดขนาดพื้นที่ออฟฟิศทั่วทั้งตลาด ทำให้อัตราพื้นที่ส่าง “สูงขึ้น” ส่งผลกระทบต่ออัตรา “ค่าเช่า” ที่เจ้าของอาคารเคยสามารถกำหนดได้

อสังหาฯ ปลดเบรก  เหยียบคันเร่ง คืนชีพลงทุน “เชื่อว่าปีนี้ปริมาณการลดขนาดพื้นที่จะต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะบริษัทที่ต้องการลดภาระการเช่า ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ทำอัตราเติบโตของค่าเช่าจะถูกจำกัดและอาจลดลงในอาคารสำนักงานบางแห่ง เรียกว่าตลาดเป็นของผู้เช่าที่จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นทั้งค่าเช่าและเงื่อนไข ”

ส่วนพื้นที่ค้าปลีก ยังต้องเดินเกมระมัดระวังควบคู่ปรับตัว โดยเฉพาะ “ค่าเช่า” ต้องมีความยืดหยุ่น เพราะนาทีนี้ “ผู้เช่า” ให้ความสำคัญกับโครงสร้างสัญญาและข้อกำหนดในการเช่ามากขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ การเก็บค่าเช่าจะถูกอ้างอิงจากยอดขาย(Turnover Rent)มากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติ จากที่ผ่านมาอัตราค่าเช่าจะกำหนดตายตัวและราคา “ขยับขึ้น” ต่อเนื่อง ฝั่งผู้บริโภคเมื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่มาเยือน การอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน มีผลต่อการไปห้างค้าปลีก รวมถึงเทรนด์ชอปปิงออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลมากขึ้น ทำให้ค้าปลีกต้องฮึดหาทางดึงลูกค้าเข้าห้าง นอกจากนี้ โควิดยังทำรัฐออกมาตรกระทบเวลาการ “เปิด-ปิด” ห้างจนกระเทือนผู้ประกอบการมาหลายระลอก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบรายล้อม ฟากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกจึงมีความ “ระมัดระวัง” การลงทุนขยายสาขา สถานการณ์เหล่านี้ยังส่งผลให้ การฟื้นตัวของค้าปลีกชะลอตัวลงด้วย

วิกฤติโควิดที่ยืดเยื้อทำให้ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ กระเทือนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2564 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และยังสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นถึงปี 2565”

++โรงแรมหืดจับอีกปี

ส่วนแนวโน้มตลาดโรงแรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฟื้นตัวเกิดขึ้นค่อนข้างช้า เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เคยมีตัวเลขราว 40 ล้านคน ยังไม่กลับมาง่ายๆ ทำให้ปี 2565 ผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพา “นักท่องเที่ยวชาวไทย” ที่ต้องออกเที่ยวล้างแค้นให้สาสม หลังจากไม่ได้เดินทางไปจุดหมายปลายทาง สถานที่เป็นแรมเดือน แรมปี

ที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจโรงแรมต้องจำใจเสียสละ “หั่นราคา” ห้องพัก เพื่อดึงลูกค้า ประคองอัตราการเข้าพักให้เพิ่มขึ้น จนอยู่ในระดับเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังห่างจุด “คุ้มทุน” สำหรับช่วงโควิด(ก.ค.-ก.ย.64)รายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้(ADR)ต่ำลงไปกว่า 2,000 บาท ทุบสถิติต่ำเป็นประวัติศาสตร์

เมื่อ “ดีมานด์” ยังคงล่องหนหายไปมหาศาล ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากอีกครั้งในการลงทุน พัฒนาโปรเจคใหม่ อย่างไรก็ตาม ปี 2565 จะมีโรงแรมที่สร้างเสร็จและป้อนซัพพลายห้องพักเข้าสู่ตลาดกว่า 7,423 ห้อง ทำให้ปริมาณห้องพักเพิ่มขึ้น 6.7%

“ปี 2564 นักท่องเที่ยวลดเหลือต่ำกว่า 1 ล้านคน ส่วนปี 2565 ธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้ทดแทนเม็ดเงินที่หายไปด้วยการพึ่งนักท่องเที่ยวไทย ดังนั้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในจังหวัดที่พึ่งพาตลาดต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา สมุย คาดว่าจะฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับตลาดเขาใหญ่ หัวหิน”

ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ แม้จะมีความร้อนแรงเติบโตเป็นเงามตามตัวธุรกิจ ”อีคอมเมิร์ซ” แต่วิกฤติโควิด และการจำกัดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมในตลาด กลายเป็นตัวฉุดรั้งตลาดเช่นกัน โดยปี 2564 ครึ่งปีแรกปริมาณที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม(Serveiced Industrial Land Plots:SILP)ขายลดลง 47% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณความต้องการ ได้แก่ ดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อขานรับตลาดอีคอมเมิร์ซ การค้าขายออนไลน์ต่างๆ