สศค.เพิ่มเป้าจีดีพีปี64เป็น1.2%ส่วนปี65เร่งตัวถึง4%

สศค.เพิ่มเป้าจีดีพีปี64เป็น1.2%ส่วนปี65เร่งตัวถึง4%

สศค.เพิ่มเป้าจีดีพีปี 64 เป็น1.2%จาก 1.0% ระบุ เศรษฐกิจครึ่งหลังขยายตัวดีจากส่งออก บริโภคและท่องเที่ยว คาดไตรมาสสี่ขยายตัวได้ถึง 1.3% ส่วนปี 65 คาดจีดีพีเร่งตัว 4.0% จากการใช้จ่ายในประเทศและต่างชาติท่องเที่ยวถึง 7 ล้านคน ขณะที่ ราคาสินค้าแพงเป็นปัญหาชั่วคราว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9 ถึง 1.4% ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ 1.0% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ โดยคาดไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ระหว่าง 0.9-1.3%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด เนื่องจาก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.2% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -0.1% ถึง 0.4% ดีขึ้นจากปี 2563 ที่ขยายตัวติดลบที่ 1.0%  และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.4% ถึง 3.9% ดีขึ้นจากปี 2563 ที่ขยายตัวติดลบ 8.4%

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่า จะขยายตัวได้ถึง 19.0% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 18.7% ถึง 19.2%ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง ทั้งนี้ ปี 63 การส่งออกขยายตัวติดลบ 6.5% ส่วนการท่องเที่ยวนั้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 4.2 แสนคน มากกว่าที่สศค.เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.8 แสนคน

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5% ถึง 4.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.5% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.0% ถึง 5.0% และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1% ถึง 4.1% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้ง เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.7% ถึง 1.7% และ 3.7% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.2% ถึง 4.2% ตามลำดับ

“เราคาดว่า เม็ดเงินที่เหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน จะเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีนี้ โดยมองว่า โอมิครอนจะระบาดสูงสุดในเดือนมี.ค.จากนั้น จะค่อยลดลง และอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณในการดูแลไม่เพียงพอ เราก็จะมีงบกลางที่เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 5.0% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5% ถึง 5.5% ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.4%– 2.4% และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับ 1.0% - 3.0%ต่อปี

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 2.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

3.ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง 4.ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5.ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

สำหรับราคาสินค้าแพงที่อาจเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายประชาชนนั้น เขากล่าวว่า ทางสศค.ประเมินว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นการปรับขึ้นแบบชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทต่างๆ โดยจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ก็เชื่อว่า จะรักษาระดับการบริโภคของประชาชนไว้ได้ และ การใช้จ่ายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ส่วนระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจมีผลต่อการใช้จ่ายในประเทศนั้น เขากล่าวว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนนั้น ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 89.3% หรือ 14.35 ล้านล้านบาท และ คงที่จากไตรมาสที่ 2 ซึ่งเรามองว่า จะไม่เป็นแรงกดดันต่อกำลังซื้อในประเทศ เนื่องจาก ในจำนวนหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นหนี้สำหรับการอุปโภคบริโภคเพียง 27%เท่านั้น ที่เหลือเป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ 20% หนี้อสังหาริมทรัพย์ และ หนี้เช่าซื้อรถยนต์