ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุฯ สนลงทุน “พลังงานหมุนเวียน” ในไทย

ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุฯ สนลงทุน “พลังงานหมุนเวียน” ในไทย

“ไทย-ซาอุฯ” ฟื้นสัมพันธ์สู่ระดับปกติ เดินหน้าร่วมมือทุกมิติ ตั้งกลไกทวิภาคีขับเคลื่อน ทูลเชิญ “มกุฎราชกุมารฯ” เยือนไทย “สุพัฒนพงษ์” ชี้สนลงทุนพลังงานทดแทนในไทย

หลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25-26 ม.ค.2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการเยือนผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวสรุปว่า เป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้ ภายใต้ความพยายามเต็มความสามารถของทั้ง 2 ฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่าง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” ดังเดิม รวมทั้งพิจารณาตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือทั้งส่วนภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน 

รวมทั้งได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารฯ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อสานต่อหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์

นายกฯชี้สร้างโอกาส 9 ด้าน

นายกฯ ยังแจกแจงถึงโอกาสที่ประเมินว่าทั้ง 2 ประเทศจะได้รับจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ 9 ด้าน ได้แก่

1.ด้านการท่องเที่ยว เบื้องต้นคาดการณ์ว่า การเดินทางไปมาหาสู่ที่สะดวกยิ่งขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.ด้านพลังงาน เกิดการร่วมวิจัยและลงทุนทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้นของโลก มีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย

3.ด้านแรงงาน ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่างๆ จำนวนมากเช่นกัน โดยความร่วมมือและโอกาสนั้นจะกลับมาอีกครั้ง แรงงานจากประเทศไทยจะมีส่วนช่วยเติมเต็ม “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030”

 

หนุนความมั่นคงอาหาร

4.ด้านอาหาร ไทยเป็น “ครัวโลก” อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผักผลไม้ และประมง มีอาหารที่ทั่วโลกต่างหลงมนต์เสน่ห์ รวมถึง “ฮาลาล” ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย

5.ด้านสุขภาพ ด้วยความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขของไทย และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก เป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากขึ้น

6.ด้านความมั่นคง ซาอุดีอาระเบียถือเป็นเป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) มีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนตามแนวทางสันติสุข

7.ด้านการศึกษาและศาสนา ที่ผ่านมาซาอุฯ ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก

หวังสร้างโอกาสธุรกิจเอสเอ็มอี

8.ด้านการค้าและการลงทุน จะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทยในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศเทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน

9.ด้านการกีฬา จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาร่วมกัน เช่น ฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถรวมถึง e-sport

สนลงทุนพลังงานหมุนเวียน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือด้านพลังงานได้ปรากฎในถ้อยแถลงของนายกฯ เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ เช่น พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาและความมั่นคงทางไซเบอร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากนี้จะเห็นความร่วมมือด้านการลงทุนในไทย เพราะซาอุดีอาระเบียโดดเด่นในพลังงานทดแทนที่มีบริษัทขนาดใหญ่และเงินทุน และซาอุดีอาระเบียมีแผนมุ่งสู่พลังงานทดแทนปี 2030 ซึ่งไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และเงินลงทุนที่จำนวนสูงที่พร้อมเข้ามาร่วมลงทุนในไทย โดยต่อจากนี้จะทำรายละเอียดร่วมกัน

เปิดบินตรงไทย-ซาอุฯ

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กรณีที่สายการบินซาอุดิอาระเบีย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินเเห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย ประกาศกลับมาเปิดทำการบินมาไทยในเดือน พ.ค.นี้ โดยเป็นการประกาศล่วงหน้าเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารที่สนใจเดินทางทราบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันสายการบินดังกล่าวยังไม่ได้ยื่นขอตารางบิน

ทั้งนี้ จากกำหนดการที่สายการบินออกประกาศเริ่มทำการบินในเดือน พ.ค.2565 เป็นช่วง Slot ตารางบินฤดูร้อน ซึ่ง กพท.ได้จัดสรรเที่ยวบินแล้ว แต่พบว่ามีบางช่วงที่ยังว่างและอนุญาตให้สายการบินที่สนใจยื่นขอเข้ามาเพิ่มเติมได้ ดังนั้น หากสายการบินซาอุเดีย เริ่มทำตามขั้นตอนขอทำการบินเข้ามา เชื่อว่าจะสามารถเปิดบินในช่วงที่กำหนดไว้ได้

ชูท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียเยือนไทย เพราะราว 1 ปีก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือน ก็มีกระแสข่าวว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุฯ

ทั้งนี้ มอบหมายให้ ททท.สำนักงานดูไบ เตรียมแผนการทำตลาดนักท่องเที่ยวซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั้งการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกและจัดโรดโชว์ส่งเสริมการขาย

สำหรับสินค้าท่องเที่ยวที่เตรียมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวซาอุฯ จะอาศัยความหลากหลายของสินค้าท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่แล้ว เช่น สินค้าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาเป็นตัวนำ โดยชูความสามารถในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

เอกชนหวังดันการค้าเพิ่ม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนจับตามองใกล้ชิด เพราะอาจสร้างจุดเปลี่ยนของไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยทำให้การค้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งการส่งออกของไทยปี 2564 มีการทำการส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย 1,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกไทยทั้งหมด และหากไทยเปิดประตูการค้าได้มากขึ้นจะทำให้สัดส่วนทางการส่งออกไปซาอุดิอาระเบียกลับไปที่สัดส่วน 2.2% เหมือนปี 2532

ทั้งนี้ ซาอุฯ ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 27.5%ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯ ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยด้วยเช่นกัน

คาดแรงงานเพิ่มแตะ5หมื่นคน

นายสนั่น กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานไทย ซาอุดีอาระเบียเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง ช่วงปี 1970-1980 โดยทางการไทยประเมินว่าช่วงนั้นมีแรงงานไทยไปทำงานในซาอุฯ ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับไทยเฉลี่ย 9,000 ล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้ จะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปทำงานอีกครั้ง เพราะมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคาร

ดังนั้น เมื่อซาฯ เปิดโอกาสให้แรงงานไทยขอใบอนุญาตทำงาน (วีซ่า) อีกครั้ง คาดว่าจะทำให้จำนวนแรงงานไทยในซาอุฯ เพิ่มขึ้นจาก 10,000 คน ในปัจจุบัน เป็น 50,000 คนในระยะ3ปี และเพิ่มขึ้นเป็น100,000คน ในระยะ5ปี ซึ่งจะทำให้มีรายได้ส่งกลับจากแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ2,250-4,500 ล้านบาทต่อปี

เตรียมเซ็นเอ็มโอยูหนุนการค้า

ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าโอกาสที่ซาอุดีอาระเบียจะขยายการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาไทยระยะสั้นมีไม่มากนัก แต่เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตฟื้นฟูจะทำให้นักธุรกิจติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยดึงให้นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียมาลงทุนไทยในระยะกลางและระยะยาว 

“ภาคเอกชนได้พูดคุยกับภาคเอกชนของซาอุฯเมี่อปี 2564 ในการเจรจาการค้า คาดว่าจะลงนามความร่วมมือทางการค้า (เอ็มโอยู) ในครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ไทยมหาศาล ดังนั้นภาคเอกชนไทยต้องใช้โอกาสนี้ต่อยอดและขยายผล” นายสนั่น กล่าว