ฟื้นสัมพันธ์ ‘ซาอุฯ’ สู่ ‘มิตร’ ดีกว่า ‘ศัตรู’

ฟื้นสัมพันธ์ ‘ซาอุฯ’ สู่ ‘มิตร’ ดีกว่า ‘ศัตรู’

เมื่อไทยเยือนซาอุฯ ในรอบ 30 ปี การรื้อฟื้นครั้งนี้ส่งผลดีกับประเทศไทย ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน แรงงานฝีมือ โอกาสธุรกิจอีกมากมาย ผูกมิตรย่อมดีกว่าสร้างศัตรูเป็นแน่แท้

การเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียของผู้นำไทยในรอบ 30 ปี หากมองในมุมของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ที่ผ่านมาไทยกับซาอุดีอาระเบียมีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง ท่ามกลางความพยายามประสานรอยร้าวมาโดยตลอด การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปตามคำเชิญของประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย 

การพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง “ไทย” และ “ซาอุดีอาระเบีย” ให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ มีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระยะแรก เช่น แต่งตั้งเอกอัครราชทูต จัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี รวมถึงหารือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือในสาขาต่างๆ เช่น การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว และแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

โดยเฉพาะเรื่อง “แรงงาน” การกลับมาผูกมิตรกันครั้งนี้ เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสของแรงงานไทยในรอบ 30 ปี กระทรวงต่างประเทศประเมินว่า จะส่งผลให้มีแรงงานฝีมือกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแรงงานภาคบริการ และแรงงานเฉพาะทางของไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียจะสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท และยังเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไปตะวันออกกลางมากขึ้น ขณะที่ วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากเปิดสัมพันธ์การทูตปกติ คาดว่าการส่งออกจะสูงขึ้นเป็นแสนล้านบาท 

ดังนั้น เราเห็นว่า หากมองในมุมเศรษฐกิจ การลงทุน การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย การที่เขาจะบรรลุความสำเร็จตามวิสัยทัศน์นี้ได้ ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ สิ่งที่ตามมา คือ ความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดให้กับนักลงทุนทั่วโลก ขณะที่ ภูมิภาคตะวันออกกลางยังเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจมหาศาล ประเทศไทยก็ควรจะคว้าโอกาสนี้ไว้

เหนือสิ่งอื่นใดการผูกมิตรสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศย่อมดีกว่าการสร้างศัตรูเป็นไหนๆ