ยังลุ้นจุดเปลี่ยนทางจิตวิทยา พร้อมกับบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด

ยังลุ้นจุดเปลี่ยนทางจิตวิทยา พร้อมกับบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด

ตลาดหุ้นโลกผันผวนจากหลายปัจจัย ตลาดหุ้นในยุโรปปรับลดลง 3-4% สะท้อนความเสี่ยงโอกาสใช้กำลังทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน (หุ้นรัสเซียปรับลดลง 8%) ส่งผลกระทบหนักต่อหุ้นยุโรปที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับที่สูง

ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ ผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซีย, แรงขายก่อนการประมูลพันธบัตร, การบังคบขายและลดขนาดการกู้ยืมของบัญชีมาร์จิ้น หลังตลาดหุ้นปรับลดลงต่อเนื่องหลายวัน ก่อนที่จะมีแรงซื้อคืนในช่วงปลายตลาดดึงให้หุ้นสหรัฐฯ จากติดลบ 3-4% กลับมาบวกเล็กน้อย ทั้งนี้เรายังคาดตลาดมีโอกาสเกิดจุดเปลี่ยนทางจิตวิทยาหลังการประขุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ในวันที่ 25-26 ม.ค. อย่างไรก็ตามในมุมของการบริหารความเสี่ยง การหลุด 1,640 จุด ผู้ที่มีหุ้นอยู่มาก ควรแบ่งขายเพิ่มถือเงินสดประมาณ 20% ขณะที่นักเก็งกำไร ติดตามการลงทุนใกล้ชิด ซึ่ง SET Index จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,610-1,620 และ 1,580 จุด
 

ติดตามผลประกอบการของหุ้นใหญ่ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ SCGP (25 ม.ค.), SCC (26 ม.ค.), PTTEP (27 ม.ค.) และ DTAC (28 ม.ค.) ภาพรวมของผลประกอบการทั้ง 4 ตัวคาดฟื้นตัว QoQ โดยหุ้นที่คาดผลประกอบการแข็งแกร่งที่สุดและมีโมเมนตัมที่น่าสนใจโดยเปรียบเทียบคือ PTTEP จากแนวโน้มความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังหนุนราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ประเด็นการถอนตัวของโททาล (Total Energy) ที่ถือหุ้น 31% ในแหล่งผลิตยาดานา ในพม่า ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออย่าง PTTEP (25%), Chevron (28%) และรัฐบาลพม่า (15%) มีแนวโน้มได้ปันส่วนแบ่งผลการดำเนินงานที่มากขึ้น ซึ่งคิดเป็นกำไรที่จะเพิ่มขึ้นของ PTTEP ประมาณ 2-3% ทั้งนี้ความเสี่ยงสำคัญคือหากพม่าถูกคว่ำบาตรจนไม่สามารถรับรายได้จากการผลิตในพม่าได้ จะมีผลกระทบต่อกำไรของ PTTEP ประมาณ 15% ของคาดการณ์กำไรในปัจจุบัน

 

 

ประเด็นเก็งกำไรอื่น 1) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ บวกต่อ CK, STEC, ITD, UNIQ 2) กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ตลาดเก็งกำไรการเข้าสู่ธุรกิจใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตอล และผลประกอบการปี 2564 ที่น่าจะเห็นการจ่ายปันผลในระดับที่ดี อย่างไรก็ตามยังมีความไม่ชัดเจนของภาพรายได้ปี 2565 อีกมาก การเก็งกำไรจึงควรกำหนจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง KGI, ASP, CGH, FSS 3) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่มักจะเคลื่อนไหวได้ดีในภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้ง valuation ต่ำ และปันผลสูง ทำให้มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวของ LH, SPALI, AP, SC, ASW 4) กลุ่มบันเทิง ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวจากงบโฆษณาที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ บวกต่อ ONEE, BEC, WORK, MONO 5) หุ้นเก็งกำไรทางเทคนิค อาทิ SFT, WFX, CV, UBE, VPO, CPI, TOP, GJS, RAM, IND

ภาพรวมกลยุทธ์: ระยะสั้นอาจได้รับปัจจัยลบจากรายงานของ IMF ที่จะออกวันนี้ ที่คาดจะมีการปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากผลกระทบของโอไมครอน อย่างไรก็ตามยังคงประเมินตลาดลงมาจนใกล้ถึงจุดเปลี่ยนเชิงจิตวิทยา จากการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงินสหรัฐฯ 25-26 ม.ค. ภาพรวมยังระวังหุ้นแรงขายทำกำไรกลุ่มผู้ชนะจากโควิด (อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์) และหมุนไปยังกลุ่มที่ปลอดภัยหรือ Valuation ต่ำมากขึ้น //หุ้นแนะนำ: PTTEP*, BBL, TU, KSL*

แนวรับ: 1,620 / แนวต้าน : 1,660 จุด สัดส่วน : เงินสด 50% : พอร์ตหุ้น 50%

 


 

ประเด็นการลงทุน

จีนประกาศยกเลิกล็อกดาวน์เมืองซีอาน –จีนยุติมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองซีอาน หลังใช้มาตรการเป็นเวลาหนึ่งเดือน จากสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง

ทุ่ม 3.4 หมื่นล้าน คนละครึ่งเฟส 4 ลุยเที่ยวด้วยกัน – ครม.ไฟเขียวงบฯ 34,800 ล้านบาท เดินหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ไม่เกิน 150 บาท/วัน ไม่เกิน 1,200 บาท/คน เริ่ม 1 ก.พ. และเห็นชอบเที่ยวด้วยกัน วงเงิน 9,000 ล้านบาท

ส.อ.ท.ตั้งเป้ายอดผลิตรถ 1.8 ล้านคัน – ส.อ.ท.ประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี 2565 อยู่ที่ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.78% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 55.56% และเพื่อจำหน่ายในประเทศ 44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด 

ผลิตรถพุ่ง 1.8 ล้านคัน - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2565 อยู่ที่ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้น 114,295 คัน คิดเป็น 6.78% จากปีก่อนผลิตได้ 1,685,705 คัน

 

ประเด็นติดตาม: - 25 ม.ค. – รายงานเศรษฐกิจฉบับใหม่ของ IMF / 26 ม.ค. – Fed meeting

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)