‘ศุภาลัย’ส่งสัญญาณต้นทุนพุ่งนับถอยหลัง'ปรับราคาบ้าน’ครึ่งปีหลัง

‘ศุภาลัย’ส่งสัญญาณต้นทุนพุ่งนับถอยหลัง'ปรับราคาบ้าน’ครึ่งปีหลัง

จากปัจจัยลบต้นทุนที่ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บวกกับ “ข้อจำกัด” ในการขยายตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลางล่าง ส่งผลให้ “ศุภาลัย” หันขยายตลาดบ้านหรู และกระจายโครงการออกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น พร้อมส่งสัญญาณเตือน! นับถอยหลังราคาบ้านต้นทุนเดิมกำลังหมดลงในครึ่งปีแรก 2565 นี้

ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ปี 2565 ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาฯ คือ จำนวนประชากรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น จำนวนเด็กเกิดลดลง คนสูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้นแบบ "จำกัด" ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับกลางล่างที่มีรายได้ 30,000 บาท มีรายได้ลดลง รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่งผลต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนวัสดุไม่ว่าเหล็กเพิ่มขึ้นถึง 30% รวมถึง ปูน คอนกรีต น้ำมัน และ ราคาที่ดินไม่ลดลง ส่งผลกระทบให้ต้นทุนอสังหาฯ เพิ่มขึ้น ยกเว้นเรื่องเดียวที่เป็นปัจจัยบวก คือ “ดอกเบี้ยต่ำ”

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ทิศทางตลาดอสังหาฯ ปี 2565 บ้านราคาสูงขึ้น บ้านจัดสรร 3-4 ชั้นราคาสูงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แนวโน้มบ้านจัดสรรขยายทำตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะต้นทุนที่ดินต่ำกว่าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ยกเว้นภาคใต้ที่ต้นทุนก่อสร้างสูงกว่า 10% ส่งผลให้คนนิยมสร้างบ้านในหัวเมืองต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ขณะที่ที่จอดรถจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาคอนโดมิเนียมใน 5 ปีข้างหน้า

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ กล่าวเสริมว่า ประเมินว่าปีนี้ตลาดอสังหาฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่เชื่อว่าเป็นระยะสั้น 

“บ้านเป็นปัจจัย 4 ผู้คนยังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัย ขึ้นอยู่กับว่าดีเวลลอปเปอร์จะสามารถหาสินค้ามาตอบโจทย์เซ็กเมนต์นั้นๆ ในราคาที่เหมาะสม ในทำเลที่ลูกค้าต้องการได้หรือไม่   หากทำได้เชื่อว่าขายได้ เหมือนช่วงปีที่ผ่านมาตลาดแนวราบยังไปได้ดี ยอดขายแนวราบในปี 2564 เติบโตสูงแม้ว่าการเปิดตัวใหม่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี!”

เขายอมรับว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” ส่งผลกระทบต้นทุนสินค้าราคาแพงขึ้น เช่น ราคาเหล็กเพิ่มขึ้น แรงงานหายากขึ้น วัตถุดิบต่างๆ ปรับราคาขึ้น ทำให้ต้นทุนในการสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3-4 % ส่วนราคาบ้านปีนี้น่าปรับขึ้น 2% ตามต้นทุนใหม่ แต่เชื่อว่า ปัจจุบันยังคงมีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ ทั้งแนวราบและแนวสูง ที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันที ในราคาเท่าเดิม 

หากซื้อตอนนี้ยังถือเป็น “นาทีทอง” ของลูกค้าในช่วงครึ่งปีแรก! เพราะอัตราดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ รวมทั้งมีการผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี มาตรการลดธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ยังได้สิทธิประโยชน์ในราคาต้นทุนเก่า ก่อนที่ราคาปรับสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า!!
 

ในส่วนของ “ศุภาลัย” ได้เตรียมแผนรับมือการภาวะต้นทุนที่แพงขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนวัสดุที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง เพื่อทำราคาที่ “คุ้มค่า” รองรับความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้า ที่สำคัญแข่งขันกับคู่แข่งได้ 

โดยปีนี้ยังคงเน้นตลาดแนวราบ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดี กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงระดับอายุ 31-40 ปี เริ่มจากการเปิดตัว 5 แบรนด์บ้านใหม่  ทำเลแรกบนถนนบรมราชชนนี โครงการ “ศุภาลัย เอเลแกนซ์ บรมราชชนนี121” บ้านเดี่ยว 3 ชั้นขนาด100 ตารางวา เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนราคาตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ตามด้วย ศุภาลัยทัสคานี แม่ริม เชียงใหม่, ศุภาลัย แกรนด์วิลล์ เชียงราย, ศุภาลัย เลค และพาร์ค อุดรธานี และ ศุภาลัย เลค วิลล์ ภูเก็ต

ขณะเดียว เตรียมโครงการแนวราบระดับราคา 4-6 ล้านบาท ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการบ้านในเซ็กเมนต์ทำเลใหม่ๆ รวมถึงการ พัฒนาโครงการใหม่ใน 5 จังหวัดใหม่ ได้แก่  ฉะเชิงเทรา ลำพูน นครสวรรค์ นครปฐม และ ประจวบคีรีขันธ์  เพราะมองเห็น “โอกาส” ขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น หลังจากมีคนกลุ่มหนึ่งย้ายกลับไปทำงานในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมทั้งบางจังหวัดแหล่งงานที่สำคัญในโซนอีอีซี อาทิ ฉะเชิงเทรา จากปีที่ผ่านประสบความสำเร็จในการทำตลาดในชลบุรี ระยอง

ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายในประเทศ 28,000 ล้านบาท เป้าหมายรายได้ 29,000 ล้านบาท โดยวางแผนเปิดตัว 34 โครงการใหม่ เป็นแนวราบ 31 โครงการและคอนโดมิเนียม3โครงการมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท ใช้งบจัดซื้อที่ดิน 8,000 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินในปีถัดไป

สำหรับปี 2564  ศุภาลัยมียอดขายรวม 31,000 ล้านบาท จากตลาดในประเทศ 24,000 ล้านบาท และยอดขายจากโครงการร่วมทุนในต่างประเทศ 7,000 ล้านบาท ขณะที่การขยายตลาดที่อยู่อาศัยออกสู่ต่างจังหวัดยังเดินหน้ากระจายการลงทุนต่อเนื่อง ปัจจุบันศุภาลัยพัฒนาโครงการครอบคลุม 24 จังหวัด คาด 2-3 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 30 จังหวัด