เทคโนโลยีกับการพัฒนา “มนุษย์”แห่งอนาคต

เทคโนโลยีกับการพัฒนา “มนุษย์”แห่งอนาคต

ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบรับความต้องการแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นเองได้ในประเทศนั้น ปัจจัยหนึ่งที่จะขาดไปเสียมิได้ก็คือ “คน” ศักยภาพสูงที่จะต้อง “พัฒนาขึ้นมาได้เอง”ในประเทศ

การลงทุนในการพัฒนากำลังคนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการลงทุนในด้านวัตถุ ยุทโธปกรณ์ หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานในทางนวัตกรรม

ลองจินตนาการว่าถ้าเราสามารถบ่มเพาะคนแบบอีลอน มัสค์ แจ็ค หม่า หรือว่าบิลล์ เกตส์ได้สักร้อยหรือพันคนในประเทศ ประเทศเราจะก้าวหน้าไปมากเพียงไร

รายงานประจำปี 2021 ด้านเทคโนโลนีและนวัตกรรมจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด (UNCTAD) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีดัชนีความพร้อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า ( frontiers technologies) อยู่อันดับที่ 46 จาก 158 ประเทศ ซึ่งก็ถือว่าไม่แย่นัก แต่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 5 และมาเลเซียที่อยู่ที่อันดับที่ 31 ก็ถือว่ายังตามอยู่พอสมควร

 แต่ถ้าเทียบกันทางด้านทักษะทรัพยากรมนุษย์นั้น ผลออกมาแอบน่ากังวล เพราะในขณะที่การประเมินทักษะของ ”คน” ของสิงคโปร์นั้นอยู่อันดับที่ 9 และมาเลเซียที่ 65 ดัชนีความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเรานั้นกลับรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 91

คำถามคือเรากำลังเดินทางถูกหรือไม่กับกระบวนการสร้าง “คน” แห่งอนาคต กระบวนการผลิตบัณฑิตแบบเดิมๆ ที่พบกันอยู่ได้ทั่วไป ด้วยกระบวนการที่ไม่ต่างจากการปั้มสินค้าออกมาจากโรงงานนั้นจะสร้างบุคลากรทักษะสูงที่พร้อมแข่งขันในตลาดแรงงานในโลกแห่งยุคดิสรัปชั่นที่การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืนได้จริงหรือ

นี่คือประเด็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานด้าน “มนุษย์” ของชาติควรเริ่มไตร่ตรองเพื่อขจัดจุดอ่อนของระบบการศึกษา และติดอาวุธให้ทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยนำพาประเทศให้ก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงไม่แพ้ใครในเวทีโลก

เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง หลายที่เริ่มที่จะโฟกัสในการเพิ่มรายวิชาชั้นสูง เน้นรายวิชานวัตกรรมที่ชูความล้ำสมัย รายวิชา soft skill เพื่อเสริมสร้างทักษะความเป็นมนุษย์ และรายวิชา entrepreneurship เพื่อสร้างผู้ประกอบการ

เมื่อเพิ่มเข้า ก็ต้องมีเอาออก หลายหลักสูตรเลือกที่จะลดทอนรายวิชาพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืนออกไป อาทิเช่น วิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

อาจจะฟังดูเหมือนเป็นการรักพี่เสียดายน้อง แต่ถ้าขาดพี่หรือขาดน้อง ปัญหาจะเกิด และนี่คือสาเหตุที่เราต้องเริ่มหันมามองหาวิธีสร้างสมดุลย์ในการจัดการเรียนการสอน ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ทั้งพี่ทั้งน้อง เพราะหากได้แต่พื้นฐาน การปรับตัวตามกระเเสโลกก็อาจจะทำได้ช้า ทำให้ล้าสมัย แต่ถ้าเน้นแค่จะต่อยอดนวัตกรรมหรือจะสร้างผู้ประกอบการอย่างเดียว ฐานก็จะกลวง และจะเป็นปัญหาในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อใช้เองในประเทศแบบไม่พึ่งพาต่างชาติ

การพัฒนาการศึกษาที่เน้นแต่เนื้อหาเน้นนวัตกรรม และลดทอนวิชาพื้นฐานกำลังกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวระดับโลก เพราะแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานบางอย่างนั้นเริ่มขาดหายไปจากตลาด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาในภาพรวม อย่าลืมว่าความเชี่ยวชาญในบางสาขาต้องใช้เวลาในการสร้าง ไม่ใช่แค่เข้าคอร์สอัพสกิล รีสกิลแบบประเดี๋ยวประด๋าวแล้วจะสร้างขึ้นมาได้

ที่น่าจับตามอง คือในเวลานี้ ในหลายประเทศ เริ่มมีหลักสูตรแบบเลือกเรียนได้อิสระ ยืดหยุ่น เน้นสร้างคนตามความสนใจ ด้วยเหตุผลที่ว่าเด็กแต่ละคนอาจจะมีพรสวรรค์และจุดมุ่งหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน และเนื่องจากมีการ mix and match รายวิชาต่างๆ อย่างอิสระ บัณฑิตที่ผลิตออกมาก็น่าจะหลากหลาย คล้ายๆ tailor-made

แนวคิดนี้ก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องระวังกระแสสังคมหรือแรงผลักจากครอบครัวที่จะนำพาให้เด็กเดินหลงทางไปเรียนตามกระเเสวังวนของตลาด จนท้ายที่สุด ก็หาตัวเองไม่พบ แม้จะเรียนจบ แต่ก็ไม่อยากจะทำงานตามที่ได้เรียนมา บางคนอาจจะประสบปัญหาจนหมดกำลังใจหรือซ้ำร้ายอาจจะถึงขั้นซึมเศร้าไปเลยก็ได้

ไม่แน่ว่าระบบการศึกษาที่ไม่เหมาะสม หรือกระเเสสังคมที่ผลักดันอาจจะทำลายอนาคตของนักวิทยาศาสตร์ระดับไอน์สไตน์ หรือจิตรกรเอกระดับปิกัสโซ่คนต่อไปของประเทศไปแล้วหลายคนก็เป็นได้

โครงการพัฒนาเยาวชนศักยภาพสูง อย่างโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพสำหรับเด็กและเยาวชนที่ช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ค้นหาตัวเองให้พบให้ไวที่สุด จึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการเฟ้นหาและดึงศักยภาพของเด็กออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการบ่มเพาะบุคลากรระดับโลกที่จะช่วยในการพัฒนาในแต่ละด้านของประเทศในอนาคต

บางที เราอาจจะต้องมองกันใหม่ในเรื่องของแนวคิดด้านการศึกษา และการจัดการการลงทุนด้านงบประมาณ หากอยากที่จะสร้างระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่จะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางนั้น ไม่ใช่เครื่องจักรร้อยล้าน โปรแกรมอัจฉริยะ หรือระบบขนส่งที่หรูหรา แต่เป็น “คุณภาพของมนุษย์”