พาณิชย์แตะเบรกราคาสินค้าแพง ลดแรงเสียดทานเงินเฟ้อ

พาณิชย์แตะเบรกราคาสินค้าแพง ลดแรงเสียดทานเงินเฟ้อ

พาณิชย์ ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ รับมือ “ของแพง” เบรก 5 สินค้าสำคัญห้ามขึ้นราคา “เครื่องใช้ไฟฟ้าน้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส ไข่ไก่” ประครองค่าครองชีพประชาชน หวังกกระตุกไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป

เปิดศักราชปี 65 ก็ได้ยินเสียงโอดครวญของประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่พาเหรดขยับขึ้นยกแพง เริ่มต้นด้วย หมู ซึ่งราคาพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ถึงกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท จากปริมาณหมูที่ลดลงจากผลของโรคASF  ตามมาด้วย ไก่ ไข่  และสินค้าอื่นๆ ที่จ่อขอปรับราคาสินค้าตามมาอีกเพียบ

การปรับราคาของสินค้าเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564  และเห็นได้ชัดในช่วงต้นเดือนม.ค. ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังบอบช้ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง

ร้อนถึงเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา”ร้อนฉี่ขึ้นมาทันที   โดยเฉพาะคำว่า  ยุคนี้รัฐบาลนี้ “แพงทั้งแผ่นดิน” เพราะปัญหา”ของแพง”สะเทือนถึงรัฐบาล เนื่องจากกระทบกับประชาชนเต็มๆ ทำเอาเมื่อกลางสัปดาห์“พล.อ.ประยุทธิ์ “ ต้องเรียกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งแก้ปัญหาสินค้าแพง

พาณิชย์แตะเบรกราคาสินค้าแพง ลดแรงเสียดทานเงินเฟ้อ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลราคาสินค้า  รับนโยบายเต็มที่  เริ่มจากประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะ เคาะแก้ปัญหาหมูแพง ห้ามส่งออกหมูเป็น 3 เดือน พร้อมสั่งแจ้งสต็อก-ราคาทุก 7 วัน ตามมาด้วยการมีมติให้ ไก่ และเนื้อไก่ เป็นสินควบคุม พร้อมกำหนดมาตรการเข้ม ผู้เลี้ยง 1 แสนตัวขึ้นไป โรงชำแหละ 4 พันตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนจำหน่ายทุกเดือน เตรียมชง ครม.ไฟเขียวสัปดาห์หน้า  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปรับราคาไก่

ส่วนราคาสินค้าอื่นๆนั้นทางกรมการค้าภายในได้มีการเรียกประชุมผู้ผลิต ผู้ประกอบการผู้ค้า และสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจับมือกันตรึงราคาสินค้าหมวดสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ 1.เครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่มีการขึ้นราคา 2.น้ำอัดลม 3.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4.ซอสปรุงรส และ5.ไข่ไก่

พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าแก้ไขปัญหาและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือวอร์รูม ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดโดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในระดับประเทศและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานวอร์รูมในส่วนแต่ละจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

ปัญหาของแพง ถือเป็นปัญหาใหญ่กระทบไปทุกหย่อมหญ้า และเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของประเทศ  เพราะเงินเฟ้อ คือ การที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการในระยะเวลาหนึ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น เงินที่ซื้อสินค้าหรือบริการจะน้อยลง สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการซื้อที่น้อยลงนั่นเอง

ที่ผ่านมามีสัญญาณของเงินเฟ้อที่ค่อยๆไต่ระดับขึ้น โดยเงินเฟ้อเดือนพ.ย. 2564 เพิ่มขึ้นมาถึง 2.71% เดือนธ.ค.แม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง  2.17% และเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 อยู่ที่ 1.23% คาดว่า เดือนม.ค.เงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆของภาครัฐที่ออกมาจะกระตุกความร้อนแรงของสินค้าราคาแพงที่จะส่งผลดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีกหรือไม่