ทำความรู้จัก “ภาษีความเค็ม” ใครต้องจ่ายบ้าง หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

ทำความรู้จัก “ภาษีความเค็ม” ใครต้องจ่ายบ้าง หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

ชวนไปทำความรู้จัก "ภาษีความเค็ม" ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม ไปดูกันว่า หลักการคิด คำนวณและจัดเก็บเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการรายใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และใครที่มีแนวโน้มจะได้รับการยกเว้น รวมถึงควรจะต้องวางแผนภาษีอย่างไร

เนื่องจากการบริโภคในยุคโควิดที่เปลี่ยนไป การออกจากบ้านถือเป็นความเสี่ยง ทำให้ผู้บริโภคต้องมีการตุนอาหารจำเป็นและเก็บได้นานไว้ รวมถึงขนมขบเคี้ยวที่เด็กๆ โปรดปรานก็ขาดไม่ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก ผลที่ตามมาคือสุขภาพร่างกายเริ่มถดถอย เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้แนวทางลดการบริโภคโซเดียมของประชาชนจึงกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยสืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี 2562 ภาครัฐได้มีการหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ลดความเค็มโดยการเก็บ “ภาษีความเค็ม

กระทั้งปัจจุบันเมื่อการรอคอยใกล้ปรากฏให้เห็นแล้วว่า ปีนี้อาจมีแนวทางปฏิบัติและบังคับใช้ภาษีความเค็มที่ชัดเจนเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการใดและผลิตภัณฑ์รสเค็มแบบไหนบ้าง ที่เข้าข่ายอาจต้องเสียภาษีความเค็มเพิ่ม ไปสำรวจพร้อมเตรียมรับมือกัน

  • ไขข้อสงสัยความหมายของ “ภาษีความเค็ม”

จากข้อมูลต่างๆ สามารถให้ความหมาย “ภาษีความเค็ม” ได้ว่า คือการจัดเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมเกินมาตรฐานความเค็มที่กฎหมายกำหนด เป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับการผลิตให้มีปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภค ให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเพิ่ม และสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงของประชาชน

โดยทางอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ระบุว่า ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในหลายประเทศมีการเก็บภาษีความเค็มอยู่แล้ว โดยจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน คือเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม เป็นแบบขั้นบันได้ไล่ระดับความเค็ม เช่น หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูงนั่นเอง

การเก็บภาษีความเค็มจะเน้นไปที่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งโซเดียมที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมมี 2 ประเภท คือ

1. โซเดียมที่ใช้ยืดระยะเวลาอาหาร และสินค้า เช่น การถนอมอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน (ไม่มีการเก็บภาษี เพราะใช้โซเดียมในปริมาณน้อย)

2. โซเดียมที่ใช้ปรุงรสชาติ 80% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน (มีการเก็บภาษี เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ในอาหารหรือในผลิตภัณฑ์)

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์โซเดียมสูง...ที่อาจได้รับผลกระทบจาก “ภาษีความเค็ม”

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในข่ายมีปริมาณโซเดียมสูง และอาจได้รับผลกระทบการจากจัดเก็บภาษีความเค็ม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งเรารวบรวมไว้ได้ทั้งหมด 7 กลุ่ม เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม ปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลง หรือน้อยกว่าเกณฑ์กำหนด เพื่อให้ประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนี้    

1. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 
2. อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น
3. โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป
4. อาหารกึ่งสำเร็จรูป
5. ปลากระป๋อง
6. ขนมขบเคี้ยว
7. ซอสปรุงรส
8. ผงชูรส

ทั้งนี้ เมื่อคราวที่ทางภาครัฐมีการปรึกษาเสนอแนวคิดเมื่อปี 2562 ได้มีบางรายการได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีความเค็ม คือ

- ขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากจัดเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่า จะเลือกซื้อมารับประทานหรือไม่

- เครื่องปรุงที่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา เกลือ และซอสปรุงรส  

- ร้านขายอาหารตามสั่ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชน เช่น ปลาเค็ม เนื้อแดดเดียว 

และล่าสุดในปี 2564 กรมสรรพสามิตได้มีการปรับเปลี่ยนบางรายการผลิตภัณฑ์ โดยเบื้องต้นระบุผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 

1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 

2.อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น 

3.ขนมขบเคี้ยว 

4.ซอสปรุงรส 

แต่ผู้ประกอบการไม่ควรนิ่งนอนใจ แม้ว่าตนเองจะไม่ได้เข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็มทั้ง 4 กลุ่ม แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่เราได้รวบรวมไว้นั้น ก็ควรป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ออกมาชัดเจน 

 

ภาษีความเค็ม ต้องจ่ายเท่าไร

อย่างที่กล่าวไปบ้างแล้วว่า รูปแบบการเก็บภาษีความเค็มจะเป็นแบบขั้นบันได คือเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม เช่น หากเค็มมากจะเสียภาษีมาก ถ้าเค็มน้อยจะเสียภาษีน้อย และหากต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดก็ไม่ต้องเสียภาษี

โดยปริมาณโซเดียมที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำคือปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ทางกรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่มีโซดียมสูง มีความเค็มสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ 2-3 เท่า จึงมีข้อเสนอที่จะเรียกเก็บภาษีความเค็ม สำหรับอาหารที่มีความเค็มเกิน 1,800 มิลลิกรัม (มีอาหารที่ความเค็มเกินเกณฑ์กำหนดอยู่ประมาณ 15% ของทั้งตลาด)

ลักษณะการจัดเก็บภาษีความเค็มนั้น จะจัดเก็บภาษีเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมเกินกำหนดเท่านั้น ไม่ได้เก็บภาษีผลิตภัณฑ์ทุกตัว เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำมีโซเดียมเกินกำหนด แต่รสหมูสับมีโซเดียมไม่เกินกำหนด ก็จะเก็บภาษีเฉพาะรสต้มยำเท่านั้น

สรุป

ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถเลือกวางแผนภาษีความเค็มได้หลายแนวทาง เช่น เลือกปรับสูตรเพื่อให้ปริมาณโซเดียมลดลงให้เข้าเกณฑ์ เลือกแบกรับภาษีความเค็มเพิ่มนี้ไว้เอง หรืออีกทางหนึ่งคือโยนภาระให้กับผู้บริโภค โดยการเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคลด งด และเลิกซื้อลง เนื่องจากปัจจัยเรื่องราคาที่สูงเกินไป และหันไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกลงแถมได้รับโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย

แต่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกวิธีไหน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคทั้งเรื่องเงินในกระเป๋าและสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการหากเลือกปรับสูตรให้โซเดียมอยู่ในเกณฑ์กำหนด ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และไม่ต้องเสียภาษีความเค็มเพิ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม..ต้องรอติดตามความชัดเจนภายในปีนี้อีกครั้ง ทางภาครัฐอาจประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมการปรับปรุงการผลิต ก่อนกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากโควิด

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่