สินค้าแห่ลดไซส์ ปรับราคา ผู้บริโภคกระอัก จ่ายแพงขึ้น

สินค้าแห่ลดไซส์ ปรับราคา ผู้บริโภคกระอัก จ่ายแพงขึ้น

สินค้าอุปโภคบริโภคแห่ขึ้นราคา ลดไซส์ หลังต้นทุ่นพุ่ง ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ ตรึง “มาม่า” ซอง 6 บาท แม้วัตถุดิบน้ำมันปาล์ม แป้งสาลีขยับขึ้นแรง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ ย้ำนโยบายราคา “เป๊ปซี่” ไม่เปลี่ยนแปลง ด้าน “โคคา-โคล่า” เตรียมถก “ไทยน้ำทิพย์” ประเด็นปรับปริมาณน้ำอัดลมลดลง

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะรอบ 2 ปีที่ผ่านมา วัตถุดิบผลิตมาม่า เช่น แป้งสาลีราคาประมาณ 450 บาทต่อถุงขนาด 22.5 กิโลกรัม(กก.) จากเดิมอยู่ที่ 300 บาท และน้ำมันปาล์มเคยซื้อ 19 บาทต่อกก. ล่าสุดขยับขึ้นมาประมาณ 57 บาทต่อกก.

ทั้งนี้ วัตถุดิบถือเป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 55-60% โดยบริษัทยังบริหารจัดการต้นทุนได้ และไม่มีแผนจะปรับขึ้นราคามาม่าซอง 6 บาทแต่อย่างใด

++มาม่า 6 บาท ตรึงราคาเดิม แม้ต้นทุนพุ่ง

อย่างไรก็ตาม มาม่าปรับราคาขายครั้งล่าสุดสำหรับซองขนาด 60 กรัม ราคา 6 บาท ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งสินค้าดังกล่าวถือเป็นพอร์ตโฟลิโอหลักของบริษัท และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวขึ้นลงเป็นระยะ แต่บริษัทยังคงตรึงราคาเดิมไว้

ด้านภาพรวมตลาดบะหมี่ฯกึ่งสำเร็จรูปมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันเทรนด์ตลาดขยับไปสู่พรีเมี่ยม และมีบะหมี่ฯทางเลือก ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้บริษัทปรับตัวด้วยการออกสินค้าใหม่ ราคาใหม่ เช่น มาม่า โอเรียนทอล คิทเช่น ขนาด 85 กรัม ราคา 15 บาท มาม่าเย็นตาโฟขนาด 50 กรัม ราคา 8 บาท ซึ่งเป็นการปรับรสชาติ อัพเกรดสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ด้วย

สินค้าแห่ลดไซส์ ปรับราคา ผู้บริโภคกระอัก จ่ายแพงขึ้น

พันธ์ พะเนียงเวทย์

“มาม่า 6 บาท เรายังตรึงราคาไหว เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังนิยมบะหมี่ฯแบบซองในตลาดเดิม และเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวทางด้านราคาอยู่ ซึ่งสินค้าทางเลือกหลักตรงนั้นบริษัทจะไม่แตะไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ขณะเดียวกันมิติในการแสดงศักยภาพทางด้านการแข่งขัน บริษัทมีการสินค้าใหม่ ราคาใหม่เข้าทำตลาดต่อเนื่องปีละ 4-5 รายการ เพื่อรองรับผู้บริโภคยุคใหม่บางกลุ่มที่ไม่ยึดด้านราคา มีการเปิดรับสินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น”

++สินค้าจำเป็นทยอยขยับราคาขาย

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพหลายรายการทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรส น้ำส้มสายชู ครีมเทียม และน้ำมันพืช ซึ่งบางแบรนด์เดิมจำหน่ายราคา 55 บาท ขยับเป็น 70 บาทต่อขวด

นอกจากนี้ เปิดปี 2565 น้ำอัดลมยังมีการปรับโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ที่เคยให้กับร้านค้ายี่ปั๊วซาปั๊วลง ส่งผลกระทบต่อการขายสินค้า เพราะราคาต่อหน่วยจะมีต้นทุนเพิ่ม หรือกำไรลดลงนั่นเอง

“น้ำอัดลมแบรนด์หนึ่งไม่ให้ส่วนลดร้านค้าแล้ว เดิมจากเคยได้ส่วนลดราว 3-5% ต่อลัง ซึ่งเหมือนเป็นการขึ้นราคาโดยอ้อม 5-10 บาทต่อลัง เบื้องต้นประเมินว่าอาจเกิดจากปลายปีแบรนด์โหมทำตลาดอย่างหนักเพื่อกระตุ้นยอดขาย พอต้นปีจึงชะลอ ต้องรองดูช่วงไฮซีซัน เดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการกลับมาให้ส่วนลดกับร้านค้าหรือไม่”

สินค้าแห่ลดไซส์ ปรับราคา ผู้บริโภคกระอัก จ่ายแพงขึ้น นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์โสตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ได้ทยอยขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่ปลายปี 2564 เนื่องจากเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น ตัวอย่างสินค้าจำเป็นที่ปรับราคาแล้ว เช่น กระดาษชำระ สบู่ ของกินของใช้ที่จำเป็น

“ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตขอขยับราคาขาย ซึ่งหากซัพพลายเออร์อยู่ไม่ได้ ร้านค้าก็อยู่ไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่ต้นทุนการผลิตต่ำลง ผู้ประกอบการมีกำไร ก็จะคืนให้แก่ผู้บริโภคด้วยการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถมต่างๆ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความสำคัญและเป็นใหญ่”

++น้ำอัดลม บะหมี่ฯ ขนมขบเคี้ยว ลดปริมาณ

ทั้งนี้ จากกระแสข่าวน้ำอัดลมแบรนด์ดังมีการปรับราคาขึ้น 1 บาทต่อขวด ทางผู้ผลิตอย่างบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยืนยันว่าบริษัทยังไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าแต่อย่างใด ซึ่งการจะดำเนินการใดๆต้องมีนโยบายจากบริษัทแม่ก่อน

ส่วนน้ำอัดลมแบรนด์แฟนต้า บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมีการลดปริมาณสินค้าจาก 422 มิลลิลิตร เหลือ 325 มิลลิลิตร โดยจำหน่ายราคาปลีกเดิม 9 บาท ถือเป็นการดำเนินการของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตน้ำอัดลมให้กับโคคา-โคล่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว บริษัท โคคา-โคล่า(ประเทศไทย) จำกัด จะหารือกับผู้ผลิตถึงรายละเอียดดังกล่าว

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า สินค้าจำเป็นหลายรายการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯ บางแบรนด์มีการปรับลดปริมาณสินค้าแต่ขายในราคาเดิมมาสักระยะแล้ว รวมถึงมีการออกสินค้าใหม่ราคาใหม่ 10 บาท เข้าทำตลาด โดยจะออกสินค้าใหม่ราคา 6 บาท คาดว่าคงไม่มี ส่วนขนมขบเคี้ยวหรือสแน็คหลายแบรนด์ ลดปริมาณสินค้านานแล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นเกือบทุกตัว