กระทรวงอุตฯ เร่งต้นแบบแบตฯอีวี ดัน“รีไซเคิล”หนุนสังคมไร้ขยะ

กระทรวงอุตฯ เร่งต้นแบบแบตฯอีวี ดัน“รีไซเคิล”หนุนสังคมไร้ขยะ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ เผย 2 โครงการปี 2565 พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ดันไทยเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตรถอีวีของภูมิภาค

แผนการผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าในอีก 5 ปี จะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้ 50% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า

อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือง​แร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดหาวัตถุดิบอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ รวมถึงการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนในอนาคต จึงได้มีการดำเนินโครงการภายใต้ปีงบประมาณ 2565 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ดังนี้

1.โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมศักยภาพ ด้วยงบประมาณ 8.56 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมศักยภาพที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า

โดย กพร.ได้ทำการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำธาตุ “โพแทสเซียม” และ “โซเดียม” ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมากภายในประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดใหม่ เพื่อทดแทนแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ลดข้อจำกัดในการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ รวมทั้งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบภายในประเทศ
 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการในปี 2564 พบว่า แบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออน และ แบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน เป็นแบตเตอรี่ทางเลือกชนิดใหม่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานแห่งอนาคต โดยแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออน พบข้อจำกัดเรื่องของน้ำหนัก และการเก็บ-คายประจุ จึงเหมาะกับการใช้เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแบบไม่เคลื่อนที่ ส่วนแบตเตอรี่โซเดียมไอออนกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ศึกษาได้ยังต้องการการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับแบตเตอรี่ทางเลือกที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศให้สามารถนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรม โดยการขยายผลการวิจัยและพัฒนา วัตถุดิบและเทคโนโลยีในการผลิตให้มีคุณภาพของแบตเตอรี่ที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถแข่งขันได้กับแบตเตอรี่ประเภทอื่นๆ ได้

แนวทางดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในไทยนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ต้นแบบที่ได้ไปทดลองใช้งานจริง รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาตลาดและการลงทุน การให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคตแบบครบวงจร

ทั้งนี้ แบตเตอรี่โซเดียมไอออน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะในขณะนี้ Contemporary Amperex Technology Co. Limited หรือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบจัดเก็บพลังงานรวมถึงระบบการจัดการแบตเตอรี่ ได้เริ่มการดำเนินการเชิงอุตสาหกรรมสำหรับแบตเตอรี่โซเดียมไอออน และวางแผนจะตั้งห่วงโซ่การผลิตพื้นฐานภายในปี 2566

2.โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิล เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 6,500,000 บาท มุ่งเน้นการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้แล้วที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ให้เกิดการหมุนเวียนวัสดุใช้แล้วเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยมลพิษ สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ “สังคมไร้ขยะ” (Zero Waste Society) โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ

1.การนำโมดูลและเซลล์ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีระดับการเก็บประจุหรือชาร์จไฟ (State of Charge, SOC) สูงหรือมากกว่า 80% มาฟื้นฟูสภาพและประกอบกลับเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน สำหรับใช้เป็นแบตเตอรี่เกรด 2 ที่มีราคาถูกลงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ เป็นต้น

2.การนำโมดูลและเซลล์ฯ ที่มีระดับ SOC ปานกลางหรือ 60-80% มาฟื้นฟูสภาพและประกอบกลับเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน สำหรับการใช้งานในรูปแบบอื่น เช่น อาคารสถานที่ โรงงานอุตสาหกรรม สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า ฟาร์มเพาะปลูก เป็นต้น

3.การนำโมดูลและเซลล์ฯ ที่มีระดับ SOC ต่ำหรือน้อยกว่า 60% หรือไม่สามารถใช้งานต่อได้ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำโลหะและสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ต่อไป

“เพื่อรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดธุรกิจในโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรในประเทศ”